ตัวแทนจากรัฐบาลและหน่วยงานทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นจากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย และเวียดนามเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนานโยบายที่จัดขึ้นในวันที่ 5-6 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติกรุงเทพฯ เพื่อผลักดันแนวคิดการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองพัฒนาขึ้นสู่ระดับประเทศ
ก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวคิดการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองขึ้นหลายครั้งในปี พ.ศ.2561 ได้แก่ การประชุมที่ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย และเวียดนาม รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “การบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการในภาคส่วนน้ำ พลังงานและอาหารในเมืองจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCAP เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและผลประโยชน์ร่วมของการใช้แนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง
ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนานโยบายในครั้งนี้ UNESCAP ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับแผนงานของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระบวนการระดับภูมิภาค แผนงาน รวมทั้งแนะนำเครื่องมือและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันในหัวข้อการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ซึ่งใช้เป็นวิธีในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายวาระการประชุมระดับโลก รวมทั้งตัวอย่างของวิธีการใช้ทรัพยากรที่นำมาบูรณาการจากต่างภาคส่วน มาผนวกกับกรอบนโยบายแห่งชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ ได้รับการวางแผนจากผลลัพธ์และข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งก่อนหน้า ตัวแทนจากรัฐบาลระดับชาติและระดับท้องถิ่นของประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย และเวียดนาม ยังได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR) ของแต่ละประเทศ รวมทั้งจัดทำเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นเป้าหมายที่แต่ละประเทศกำหนดเองตามความเหมาะสม (NDC) ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางของบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง และโครงการที่ดำเนินการในเมืองต่างๆ ผ่านรูปแบบการนำเสนอแบบ Market Place
ประเทศเหล่านี้ ได้ระบุถึงความท้าทายเพื่อพัฒนาการบูรณาการในทุกระดับและภาคส่วนของรัฐบาล โดยพิจารณาจากความร่วมมือระหว่างสถาบัน การแบ่งปันความรู้ (รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูล) รูปแบบการเรียนรู้และการฝึกอบรม ตลอดจนความสามารถทางการเงินและเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้ทำงานในกลุ่มประเทศของตนเอง เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการของกรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework) รวมถึงตัวชี้วัดและกรอบเวลา ในส่วนของประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ได้นำเสนอเรื่องความท้าทายในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบัน ส่วนประเทศมองโกเลียและเวียดนาม นำเสนอเรื่องความท้าทายของกลไกการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมประชุมได้เรียนรู้วิธีการใช้แนวทางบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง ในการดำเนินงานและการรายงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และความตกลงปารีส และมีความเห็นว่าตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นกว้างและยังไม่เหมาะสำหรับการนำไปใช้ เนื่องจากการดำเนินงานและตรวจสอบเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายระดับประเทศ แต่ละประเทศจะต้องปรับตัวชี้วัดให้เหมาะสมกับการนำไปปฏิบัติและทำแผนการติดตาม นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังมีแผนพัฒนาชาติ เป้าหมายและตัวชี้วัด บ่อยครั้งที่ประเทศต่างๆ บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในแผนพัฒนาแห่งชาติและปรับตัวชี้วัดมากกว่าที่จะใช้ตัวชี้วัดระดับโลกโดยตรง เช่น ประเทศอินเดีย มีโครงการพัฒนาระดับชาติสี่โครงการ ได้แก่ Swachh Bharat, Housing for All, Smart City และ AMRUT โครงการเหล่านี้ได้บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเป้าหมายของโครงการ และปรับตัวชี้วัดเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงาน
“การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนานโยบาย” ดำเนินในกรอบของโครงการการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการในเมืองในเอเชีย ซึ่งได้รับทุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ภาคีของโครงการคือ UNESCAP และ ICLEI แห่งเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้