IKI Thailand Cooperation Workshop 2024 ส่งเสริมให้เกิดการหารือและทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
(จากซ้าย) ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย, ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) GIZ ประจำประเทศไทย, คุณอาคิม ดาสไคท์ หัวหน้ากองการปรับตัว German Environmental Agency (UBA), BMUV, ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.), คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าฝ่ายแผนงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV), คุณจูเลียน ไรเบอร์ ผู้จัดการโครงการ Zukunft-Umwelt-Gesellschaft (ZUG), คุณโยฮันส์ เคอร์เนอร์ เจ้าหน้าที่แผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และ ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ร่วมถ่ายภาพทางออนไลน์
กรุงเทพฯ 10 กันยายน 2567 – ในงานสัมมนาความร่วมมือ IKI (International Climate Initiative) ประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2567 โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า โครงการ IKI Interface ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้ประสานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
งานสัมมนาเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือระหว่างโครงการในประเทศไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน IKI และเสริมสร้างการพูดคุยด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีผู้แทนจากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก IKI และหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย จำนวน 90 กว่าคน เข้าร่วมสัมมนา
ผู้แทนระดับสูงจากเยอรมนีและไทยให้เกียรติเข้าร่วมงาน ได้แก่ ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าฝ่ายแผนงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย และ ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการ CCMB (IKI Thailand Interface) จาก GIZ ประจำประเทศไทย
ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับและเริ่มการประชุม
รูปแบบการสัมมนาที่เน้นให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์กันเอื้อให้ผู้ดำเนินโครงการภายใต้กองทุน IKI และผู้กำหนดนโยบายเข้าใจถึงความซับซ้อนของนโยบายและการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างละเอียด งานในช่วงเช้าเน้นการนำเสนอผลงานของโครงการ โดยองค์กรผู้ดำเนินโครงการได้แบ่งปันประสบการณ์จากโครงการที่ทำ ความท้าทาย และบทเรียนต่างๆ ภายใต้หัวข้อสำคัญ ได้แก่ เส้นทางสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี ค.ศ. 2035 (NDC 3.0) ของไทย แนวทางการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การบูรณาการความเท่าเทียมทางเพศ และการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ในการดำเนินโครงการ
ภารกิจ IKI Thailand Interface นำเสนอโดยทามาร่า เคิร์น ผู้ประสานงานหลักจากโครงการ
การนำเสนอเกี่ยวกับกองทุน IKI (International Climate Initiative) โดยจูเลียน ไรเบอร์ ผู้จัดการโครงการจาก ZUG (IKI Office)
NDC 3.0 Project Mapping โดยคุณธวัชชัย แสงคำสุข และคุณณัฐชยา พิเชฐสัทธา จากโครงการ CCMB
งานในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาเกี่ยวกับนโยบาย โดยตัวแทนจากภาครัฐของไทยและเยอรมนีได้นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับโครงการ IKI และนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย รวมถึงความก้าวหน้าในการจัดทำเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี ค.ศ. 2035 (NDC 3.0) แผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (NBSAP) และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP)
ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ จาก BMWK กล่าวปาฐกถา
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เน้นย้ำว่า IKI เป็นกลไกสนับสนุนระหว่างประเทศที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา IKI สนับสนุนโครงการต่างๆ อีกทั้งประเทศเยอรมนีได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับนโยบายและการดำเนินงานที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม การปรับตัว และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ความร่วมมือทวิภาคีมีความสำคัญในการสนับสนุนการบูรณาการเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายภาคส่วนและสามารถผลักดันการดำเนินงานต่อไปได้
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช จาก สส. กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ
เสวนาเชิงนโยบาย (จากซ้าย) ดร.อุล์ฟ เยคเคล จาก BMUV, ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช จาก สส., คุณประเสริฐ ศิรินภาพร จาก สผ. และ ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ จาก BMWK ร่วมเสวนาทางออนไลน์ ดำเนินรายการโดย คุณพิมพ์กานต์ ขัตติยวงศ์ ผู้จัดการโครงการ CCMB
การจัดเวทีเสวนาแบบ “อ่างปลา” (FishBowl Session) ได้สร้างพื้นที่ให้ผู้ดำเนินโครงการภายใต้กองทุน IKI และพันธมิตรในด้านนโยบายจากหน่วยงานรัฐบาลได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมได้แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดี ความท้าทาย และรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการดำเนินนโยบาย กลไกนี้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างนโยบายกับภาคปฏิบัติ
กิจกรรมอ่างปลา (Fishbowl Session) ดำเนินรายการโดยคุณจูเลียน ทอสท์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย
กล่าวปิดงาน โดยคุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย
งานสัมมนาความร่วมมือ IKI ประเทศไทย เป็นกิจกรรมประจำปีที่จัดขึ้นโดยโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ในฐานะโครงการผู้ประสานหลักของ IKI ประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ IKI และสนับสนุนการทำงานของไทยในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากงานสัมมนาประจำปีแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัล “เวทีเรียนรู้ IKI (IKI Learning Forum)” สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องของผู้ดำเนินโครงการภายใต้กองทุน IKI ในประเทศไทยและต่างประเทศผ่านเวทีสัมมนาออนไลน์และคลังข้อมูลออนไลน์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการหารือเกี่ยวกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นใหม่ ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดี และเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ IKI
เวทีเรียนรู้ IKI แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องของชุมชน IKI ในประเทศไทยและต่างประเทศ
เกี่ยวกับแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลกลางเยอรมนีได้สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับสากล ผ่านโครงการแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของ IKI และโครงการ IKI Interface ประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มีบทบาทในการส่งเสริมร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ดำเนินโครงการ IKI หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลเยอรมนี โดยโครงการ IKI ของรัฐบาลกลางเยอรมนีมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
ขอบเขตในภาพรวมของส่วนงานต่างๆ และที่กองทุน IKI มุ่งเน้นในการจัดสรรเงินทุน (IKI, 2024)
เกี่ยวกับ IKI Thailand Interface โดยโครงการ CCMB
โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน IKI และดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ถึง 2570 CCMB ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโครงการผู้ประสานงานประจำประเทศไทย (IKI Interface Thailand) โดยมีขอบเขตการทำงานที่สอดคล้องกับแนวทางหลักสามประการ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเชิงบวกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยโครงการฯ ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608
สมัครจดหมายข่าวภาษาอังกฤษของ IKI Thailand Newsletter คลิกที่นี่ โปรดเลือก “Project and Programme Newsletter” แล้วเลือก “IKI Thailand” จากนั้นกรอกอีเมลของคุณ แล้วกด “Submit”
ติดต่อ IKI Interface Thailand: IKI-Thailand@giz.de
กลไกการร้องเรียนอย่างเป็นอิสระของ IKI (The Independent Complaint mechanism of IKI) (IKI ICM)
กลไกการร้องเรียนอย่างเป็นอิสระของ IKI (IKI ICM) คือช่องทางในการสร้างแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีระดับสากล ที่กำหนดไว้ในกลไกธรรมาภิบาลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายกลไกธรรมาภิบาลอิสระ (Independent Accountability Mechanism Network) กระบวนการพิจารณาของเรายึดตามพันธกรณีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี รวมถึงหลักการต่างๆ เช่น หลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)
เราให้คุณค่าต่อความคิดเห็น และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของคุณ ตามนโยบายของ IKI เรายึดมั่นต่อหลักการของการมีส่วนร่วม ความเสมอภาคระหว่างเพศสภาพ การเปิดโอกาสที่เป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในการแสดงออก ตลอดจนการคุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อม หากคุณพบเห็นหรือประสบผลกระทบในเชิงสังคม และ/หรือผลกระทบในทางลบทางสิ่งแวดล้อม จากโครงการของ IKI กรุณาติดต่อ iki-complaints@z-u-g.org
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IKI ICM: กลไกการร้องเรียนอย่างเป็นอิสระ | แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)