IKI JET หนุนเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในเหมืองถ่านหินของไทย

ตัวแทนจาก GIZ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากคณะกรรมมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา
กรุงเทพฯ, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567 — องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โดยโครงการนวัตกรรมภูมิภาคเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (IKI JET) เดินหน้าสนับสนุนวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหิน ผ่านการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภา
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการในการสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในพื้นที่เหมืองถ่านหินของประเทศกำลังพัฒนาและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ให้สามารถวางแผนและดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมจากถ่านหินไปสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ โครงการ IKI JET ร่วมสนับสนุนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการจัดการเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของประเทศไทย
เวทีเสวนานี้เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับอนุภูมิภาค รวมทั้งบทเรียนที่ได้จากการยุติการใช้ถ่านหินจากพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นที่ความท้าทายและแนวทางแก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม

การเสวนาเชิงนโยบาย ณ รัฐสภา โดยความร่วมมือระหว่างโครงการ IKI JET ประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) Climate Parliament และคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร
การเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของไทยครั้งนี้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มเข้าร่วมประชุม ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมคนสำคัญอีกประมาณ 80 คน

ดร.ทีโม เมนนิเคน (กลาง) ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานการเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของไทย
ในการกล่าวเปิดงานการเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของไทย โดยคุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม 3 ระดับหลัก ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างประเทศ กรอบการทำงานและกฎหมายในระดับประเทศ และการดำเนินงานในระดับพื้นที่
ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้เสริมว่า การทำงานร่วมกันในทุกระดับมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
คุณศุภโชติ ไชยสัจ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักที่หารือในช่วงบ่ายว่าจะนำเสนอความพยายามของ Climate Parliament รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ว่าเชื่อมโยงกับการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างไร และยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของกรอบการทำงานระดับประเทศที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่เหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ คุณศุภโชติยังได้แนะนำแนวคิดโซนสีเขียว (Green Zones) ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เหมืองถ่านหิน โดยเน้นย้ำถึงทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ การเชื่อมต่อ และการลดความเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว และการเรียนรู้จากพลังงานหมุนเวียนและนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม

คุณฟิลิปป์ ชัตเทินมันน์ ผู้อำนวยการโครงการ IKI JET โดย GIZ ได้ย้ำถึงบทบาทของโครงการในการเชื่อมโยง 7 ประเทศและภูมิภาคที่ใช้ถ่านหินของแต่ละประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม โดยชี้ให้เห็นถึงการดำเนินงานในระดับสากลของโครงการ ที่มีการรวบรวมผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก ดังที่เห็นได้จากการเสวนาเชิงนโยบายในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ถือเป็นหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มระหว่างภูมิภาค เพราะเราตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา” พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการหารือเชิงนโยบาย และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การเสวนาเชิงนโยบายครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของประเทศไทย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจเครื่องมือทางเศรษฐกิจ สังคม และธรรมาภิบาล ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเร่งการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังมุ่งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรและผู้เชี่ยวชาญที่สนับสนุนกระบวนการยุติการใช้ถ่านหินในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับอนุภูมิภาค
ผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกโครงการ IKI JET ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในภูมิภาคนี้ และยังได้หารือถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคและการเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งสามารถช่วยเร่งกระบวนการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition: JET) ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศพันธมิตรของโครงการ IKI JET โดยเน้นถึงความท้าทาย แนวทางปฏิบัติที่ดี และประสบการณ์จากประเทศไทยและประเทศสมาชิก IKI JET อื่นๆ

คุณสุชาติ คล้ายแก้ว หัวหน้าโครงการ IKI JET ประเทศไทย ได้นำเสนอภาพรวมกิจกรรมสำคัญในการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของประเทศไทย โดยเน้นไปที่การลดการใช้ถ่านหินอย่างเป็นระบบในหัวข้อ “Coal Phase Down by the Numbers” ซึ่งวิเคราะห์ภาพรวมของภาคถ่านหินในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ พร้อมเน้นถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคของ IKI JET ในพื้นที่แม่เมาะ ซึ่งครอบคลุมการฝึกอบรมอาชีพสายงานสีเขียว (Green Jobs) การจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมระดับภูมิภาค ยุทธศาสตร์การปิดเหมืองถ่านหิน การใช้พื้นที่หลังปิดเหมืองให้เกิดประโยชน์ใหม่ และการปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น คุณสุชาติยังได้กล่าวถึงความท้าทายสำคัญที่เกิดจากการใช้ถ่านหินอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน ตลอดจนเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมกัน เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านและลดการพึ่งพาถ่านหินในโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย

โครงการ Mae Moh Smart city 2024 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่เมาะกรีนโมเดล ถูกเน้นย้ำในเวทีเสวนาเชิงนโยบายระดับชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในพื้นที่เหมืองถ่านหินของไทย โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ
คุณสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านยุทธศาสตร์ Triple S ซึ่งประกอบด้วย Sources Transformation (การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบพลังงาน) Sink Co-creation (การเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์) และ Support Measures Mechanisms (การสนับสนุนโครงการที่ลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน) โดยยุทธศาสตร์นี้พัฒนาขึ้นร่วมกับ GIZ เพื่อลดการพึ่งพาถ่านหินของประเทศ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง แม่เมาะกรีนโมเดล (Mae Moh Green Model) ถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยบูรณาการแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงอนาคตอย่างไฮโดรเจน ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ขั้นสูง
จุดเด่นของแม่เมาะกรีนโมเดลคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดย กฟผ. ได้นำแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนมาใช้ในพื้นที่แม่เมาะ เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยภูมิภาคที่ใช้ถ่านหินในเอเชียสามารถใช้โมเดลนี้เป็นตัวอย่างได้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน
แม่เมาะกรีนโมเดลนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน แต่ยังเป็นแบบอย่างสำหรับภูมิภาคในการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม ขณะที่เอเชียยังคงเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงาน โครงการเช่นนี้จึงเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการบรรลุการเปลี่ยนผ่านออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
สุชาติ คล้ายแก้ว
หัวหน้าโครงการ IKI JET ประเทศไทย
อีเมล: suchart.klaikaew(at)giz.de