เราจะพัฒนาการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนสปป. ลาวและไทยในยุคโควิด-19 ได้อย่างไร
การเติบโตทางการค้าอย่างต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด-19 ส่งผลให้การค้าชายแดนของไทยมีดุลการค้าเกินดุลสูงสุดอยู่ที่ด่านศุลกากรหนองคาย – เวียงจันทน์ เนื่องจากชายแดนอยู่ติดกับเมืองหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของ สปป. ลาว รวมทั้งมีการเชื่อมต่อของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การคมนาคมและการขนส่งหยุดชะงัก เมืองในนครหลวงเวียงจันทน์และหนองคาย จึงกำลังเร่งเพิ่มโอกาสทางด้านการคมนาคมขนส่งทางรถไฟจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ที่ได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2564 และมีความคาดหวังให้เกิดการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์และจังหวัดหนองคายมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ โครงการการออกแบบการขนส่งภายในเมืองขนาดกลางอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน (SMMR) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอาเซียน พัฒนาระบบขนส่งข้ามพรมแดนระหว่าง สปป. ลาวและประเทศไทย โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาแผนการคมนาคมและการขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืน (SUMP) และการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ (MTE)
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การประสานงานโครงการ การวางแผนและการพัฒนาข้อตกลงด้านการขนส่งร่วมกัน จากการประชุมหารือเรื่องการคมนาคมและการขนส่งข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปว่าหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหา คือ การดำเนินโครงการเคเบิลคาร์ข้ามพรมแดนเวียงจันทน์-หนองคายเหนือแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นรูปแบบเส้นทางข้ามพรมแดนที่น่าสนใจ รวมทั้งสามารถสนับสนุนการคมนาคมหลากหลายรูปแบบเพื่อเชื่อมโยงบริการขนส่งผู้โดยสารกับระบบขนส่งสาธารณะ และลดความหนาแน่นในการขนส่งสินค้าของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่มีอยู่
ในระยะเริ่มแรก โครงการฯได้ร่วมมือกับศูนย์ริเริ่มการพัฒนาเมืองสำหรับภูมิภาคเอเชีย (CDIA) วางแผนศึกษาการเตรียมโครงการ (PPS) สำหรับโครงการเคเบิลคาร์ข้ามพรมแดนเวียงจันทน์-หนองคาย โดยจะศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบเบื้องต้นเพื่อเชื่อมโยงกับบริการและเครือข่ายการขนส่งที่มีอยู่ ทั้งในประเทศไทยและ สปป. ลาว ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคิดค้นรูปแบบการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนทางเลือกและเกิดความยั่งยืน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่งสินค้าท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
โครงการ SMMR และ CDIA คาดว่าโครงการเคเบิลคาร์ข้ามพรมแดนเวียงจันทน์-หนองคายจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างรูปแบบให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะเริ่มทำการศึกษาการเตรียมโครงการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 นี้ และจะมีการศึกษาเป็นระยะเวลา 9 เดือน โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมการขนส่งและนครหลวงเวียงจันทน์ กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของ สปป. ลาว และ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรและจังหวัดหนองคาย กระทรวงคมนาคมของประเทศไทย
คุณ Chee Anne Roño ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองขององค์กร CDIA กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกัน คือ การอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือและบูรณาการ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นความร่วมมือระหว่าง สปป. ลาวและประเทศไทย แต่รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และ โครงการ SMMR กำลังขยายโอกาสในการปรับปรุงความร่วมมือด้านการค้าและการขนส่งเชื่อมโยงข้ามพรมแดนในระดับอาเซียน ตลอดจนการสร้างกลไกการกำกับดูแลผ่านการพัฒนาแผนการเดินทางคมนาคมและการขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืน (SUMP) และการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ (MTE)”
เกี่ยวกับโครงการ SMMR
โครงการการออกแบบการขนส่งภายในเมืองขนาดกลางอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน (SMMR) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน-เยอรมนี ซึ่งสนับสนุนเขตเมืองใหญ่ในประเทศกัมพูชา เวียดนาม สปป. ลาว และไทย ในการวางแผนและประยุกต์ใช้หลักการบูรณาการ ‘Avoid-Shift-Improve’ (ASI) และมาตรการเพื่อการพัฒนาการคมนาคมและการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน โครงการ SMMR ระยะที่ 2 ได้รับเงินทุนสนับสนุนเป็นจำนวน 3,500,000 ยูโร (ราว 130 ล้านบาท)จากกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ) โครงการฯ มีการดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานด้านการขนส่งทางบกของอาเซียน (LTWG) และองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศกัมพูชา เวียดนาม สปป. ลาว และไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินงานเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึงตุลาคม พ.ศ. 2567
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมของโครงการ SMMR เพิ่มเติมได้ที่ https://www.smmr.asia และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ PPS โดยองค์กร CDIA https://cdia.asia/2021/10/26/28732/
พิชัย เอื้อมธุรพจน์
ผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย โครงการ SMMR
อีเมล:pichai(at)smmr.asia