การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อปัญหาสุขภาพในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เป็นสาเหตุของการเกิดและแพร่กระจายของโรครุนแรงมากขึ้น และส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน ไข้เลือดออก มาลาเรีย โรคอุจจาระร่วง และโรคระบบทางเดินหายใจ ปัจจุบันได้มีการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยว่าจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบทางลบด้านสุขภาพ ดังนั้นสาขาสาธารณสุขจึงเป็นหนึ่งในสาขาที่มีความเสี่ยงและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้ความร่วมมือโครงการสนับสนุนแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-NAP) ของ GIZ จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่สอง เพื่อนำเสนอแผนปฏิบัติงานการบูรณาการแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาขาสาธารณสุข ในระยะ 6 เดือนแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึงพฤษภาคม 2561 พร้อมทั้งนำเสนอผลการคัดเลือก 2 จังหวัดพื้นที่นำร่อง
จังหวัดนครสวรรค์และมหาสารคาม เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินการฯ โดยพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนความพร้อมของข้อมูล และความสนใจในการดำเนินงานของภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุข การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ การเฝ้าติดตามและการประเมินผล รวมถึงการบูรณาการแผนการปรับตัวฯ เข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในสาขาสาธารณสุข
“สืบเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เช่น การระบาดของโรคใหม่หรือโรคที่เกิดขึ้นซ้ำ ดังนั้นการวางแผนระยะยาวจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพเหล่านี้ได้ ” ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ สผ.และโครงการ Risk-NAP ได้พัฒนาห่วงโซ่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคการจัดการน้ำ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ห่วงโซ่ผลกระทบนี้ ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจและสังคม และสผ.ยังร่วมกับกรมอนามัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาสาธารณสุข และร่วมสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการดำเนินงานกับสาขาสาธารณสุขในทุกระดับด้วย