Harmless Harvest และ GIZ ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการ “การฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน” (ReCAP) ร่วมกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยโครงการฯ สนับสนุนเกษตรกรในจังหว้ดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรีและนครปฐม ปลูกมะพร้าวหอมที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นออร์แกนิค แต่เป็นการปลูกมะพร้าวตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ ที่เน้นการส่งเสริมวิธีการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งช่วยฟื้นฟูดิน ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา คุณเบนจามิน มานด์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Harmless Harvest และคุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประเทศไทยและมาเลเซีย ได้พบปะเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความร่วมมือ และความมุ่งมั่นในการสนับสนุนประเทศไทยในการเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูงและเกิดความยั่งยืน “Harmless Harvest ส่งเสริมการเกษตรตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เราเลือกที่จะเป็นพันธมิตรและดำเนินงานร่วมกับ GIZ เพื่อให้พวกเขามีการดำรงชีวิตที่ดีในประเทศไทยในระยะยาว และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนเกษตรกรด้วยวิธีการทำการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น” คุณเบนจามิน มานด์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Harmless Harvest กล่าว
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางด้านอาหารของเอเชีย และเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยผลไม้เขตร้อนนานาชนิด ความพยายามในการดำเนินงานร่วมกันครั้งนี้ จึงควรมุ่งเน้นไปที่การทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด “เราต้องการมีระบบเกษตรกรรมและห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่ออนาคตของสังคมที่ปลอดคาร์บอนและประชาชนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น GIZ รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับบริษัท Harmless Harvest ที่ยึดเอาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรเป็นหัวใจหลักสำคัญของการดำเนินธุรกิจ” คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประเทศไทยและมาเลเซียกล่าวเสริม
สำหรับปีพ.ศ. 2565 เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมจำนวน 350 คนในภาคกลางของประเทศไทยจะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ ซึ่งโครงการฯ มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัตินี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นสื่อการเรียนรู้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ReCAP คลิกที่ https://www.thai-german-cooperation.info/th/recap/