การอบรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้ความรู้แก่แพทย์และพยาบาลจำนวน 54 คนจากโรงพยาบาล 26 แห่งทั่วประเทศ ในเรื่องการทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันและควบคุมอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปใช้ในสถานพยาบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของบริการด้านสุขภาพได้
การอบรมนี้ ประกอบด้วยภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเนื้อหาของการอบรมครอบคลุมเรื่อง 1) วิธีการทำความสะอาดมือ 2) 5 ช่วงเวลาสำคัญที่ต้องทำความสะอาดมือ 3) วิธีสังเกตการณ์เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำความสะอาดมือ 4) การใช้แอพพลิเคชั่นเก็บข้อมูลการทำความสะอาดมือ และ 5) การออกแบบโครงการการทำความสะอาดมือโดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมอบรม
ไฮไลท์ของการอบรมอยู่ที่ 5 ช่วงเวลาสำคัญที่ต้องทำความสะอาดมือ ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อนสัมผัสผู้ป่วย ช่วงที่ 2 ก่อนทำหัตถการปลอดเชื้อ ช่วงที่ 3 หลังสัมผัสสารน้ำจากผู้ป่วย ช่วงที่ 4 หลังสัมผัสผู้ป่วย และช่วงที่ 5 หลังสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องเรียนรู้และจดจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมได้แสดงบทบาทสมมติเพื่อทดลองปฏิบัติ และสังเกตการทำความสะอาดมือในช่วง 5 เวลาสำคัญ เพื่อเก็บข้อมูลและประเมินผลด้วย
“การทำความสะอาดมืออย่างถูกวิธีเพียง 15 วินาที ช่วยลดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 90 ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การกระตุ้นเตือนให้คนเห็นความสำคัญของการทำความสะอาดมือ โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล”
จากการอบรม ได้ข้อสรุปว่า การทำความสะอาดมือให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น แต่ละโรงพยาบาลควรกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการด้านการทำความสะอาดมือ กำหนดมาตรการเรื่องการทำความสะอาดมือ และจัดสรรงบประมาณด้านอุปกรณ์เครื่องมือในการทำความสะอาดมือ เช่น ควรมีการติดตั้งเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์ระบบอัตโนมัติมากขึ้นและกระจายทุกพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงได้ทั้งตัวบุคลากรทางการแพทย์เองและผู้ป่วย ตลอดจนมีการติดตาม ประเมินผลการทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
“นำเอาความปลอดภัยมาตั้งต้นเป็นแบบแผนปฏิบัติให้เกิดความเคยชิน และความเคยชินก็จะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล” ผศ.นพ.กำธร กล่าวเสริม
การอบรมเป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และบริษัทบี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี GIZ ประจำประเทศไทย เป็นหน่วยงานประสานโครงการ