มะพร้าวน้ำหอมในสวนของคุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล เป็นมะพร้าวพันธุ์พิเศษที่ปลูกเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐมและราชบุรี โดยมีจุดเด่นที่กลิ่นหอมของน้ำมะพร้าว แต่เดิมนั้น สวนมะพร้าวของคุณนวลลออมีลักษณะคล้ายกับสวนมะพร้าวอื่นๆ ในพื้นที่ กล่าวคือ ประกอบด้วยต้นมะพร้าวปลูกเรียงยาวเป็นแถว มีคลองชลประทานกั้นแต่ละแถว พื้นดินระหว่างต้นมะพร้าวส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยใบแก่ของมะพร้าวและซากกาบมะพร้าว
อย่างไรก็ตาม ลักษณะสวนดังกล่าวของคุณนวลลออจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากคุณนวลลออได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 13 เกษตรกรนำร่องของโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (ReCAP) ซึ่งในฐานะเกษตรกรนำร่อง สวนมะพร้าวของคุณนวลลออจะได้รับการออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ โดยโครงการ ReCAP เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ผ่านการสนับสนุนทางการเงินของ Harmless Harvest และ Danone Ecosystem Fund และการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่าง Harmless Harvest Thailand กับ GIZ
การฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ (Regenerative Organic Agriculture) เป็นแนวทางผสมผสานหลักการการทำสวนที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งหมด พร้อมกับพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แทนการใช้ให้หมดไปอย่างเดียว ในการดำเนินการตามหลักการเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุซึ่งการหมุนเวียนสารอาหารแบบปิด (closed nutrient cycles) การลดหรือกำจัดสารเคมีไบโอไซด์ (biocidal chemicals) การเพิ่มพืชผลและความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวนไม้ล้มลุกที่ลดลงและจำนวนไม้ยืนต้นที่มากขึ้น รวมถึงวิธีปฏิบัติที่จำลองกระบวนการทางนิเวศวิทยาตามธรรมชาติ นอกจากเป็นแนวทางการทำเกษตรและส่งเสริมการรักษาสุขภาพดินแล้ว การฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ยังมุ่งเน้นเรื่องความเสมอภาคทางสังคมและสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งจากหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ได้พัฒนาสู่การจัดตั้งมาตรฐานการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ขึ้น (Regenerative Organic Certification: ROC) ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อรับรองมาตรฐานสินค้าประเภทอาหาร เส้นใยอาหาร และส่วนผสมในเครื่องสำอาง
จุดประสงค์ของโครงการ ReCAP คือ สนับสนุนและฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว 350 ราย ให้ปลูกมะพร้าวตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ ด้วยการนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ จะช่วยพัฒนาให้สุขภาพดินของสวนมะพร้าวดีขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องให้พื้นที่นั้นๆ สามารถใช้ปลูกต้นมะพร้าวได้อีกหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ โครงการยังมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างทักษะทางธุรกิจขั้นพื้นฐานให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มและกระจายช่องทางการสร้างรายได้ของเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้น โครงการมีแผนที่จะจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องภายในพื้นที่ของโครงการอีกด้วย
ระหว่างการฝึกอบรม เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาด วิธีที่จะรักษาสุขภาพของดิน และผลกระทบเชิงบวกจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผ่านแนวทางการฟื้นฟู คุณนวลลออ หนึ่งในเกษตรกรนำร่องของโครงการ ได้แลกเปลี่ยนความประทับใจหลังจากการเข้าร่วมฝึกอบรมครั้งแรกกับโครงการที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ว่า “ฉันภูมิใจมากที่ได้เป็นเกษตรกรนำร่อง การฝึกอบรมเกินความคาดหมายของฉันไปมาก หลังจากการฝึกอบรม ฉันจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้กับสวนของฉัน และจะตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ด้วย”
ไม่นานมานี้ คุณนวลลออและเกษตรกรนำร่องรายอื่นๆ ได้ปฏิรูปสวนมะพร้าวของพวกเขาให้เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวที่แข็งแรง มีพืชแซมที่หลากหลายและสามารถรับประทานได้ เช่น กล้วย กาแฟ พริก เป็นต้น มีน้ำผึ้งจากชันโรง มีดินที่ปกคลุมไปด้วยพืชคลุมดิน ทั้งนี้ วิธีการปลูกที่เปลี่ยนแปลงไป จะไม่กระทบต่อรสชาติและความหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำมะพร้าวอย่างแน่นอน แต่จะช่วยส่งเสริมแนวทางที่เป็นมิตรต่อทั้งสภาพอากาศและเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวแทน