ความเป็นมา
การปลูกพืชเสพติดผิดกฎหมาย การค้าและการใช้ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ซึ่งนับว่าประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบเสียหายจากปัญหายาเสพติดอย่างร้ายแรงที่สุด อย่างไรก็ตามองค์กรอาชญากรรม ความขัดแย้งทางอาวุธ การทุจริต มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ครอบครัวของเกษตรกรรายย่อยที่เพาะปลูกพืชเสพติดมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหารและความยากจน ขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้มีการจำกัดการผลิตและการค้ายาเสพติด ก็มีอัตราการใช้สารเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาหากเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลก
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมหลักการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาและดำเนินนโยบายยาเสพติด พร้อมผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศใหม่ อันนำไปสู่การพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุข
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯ ให้ความสำคัญต่อหลักการซึ่งยึดถือการพัฒนา การสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางในนโยบายยาเสพติดโลกและส่งเสริมให้หลักการเหล่านี้ได้รับการยอมรับเป็นบรรทัดฐานสากล ซึ่งกรอบการดำเนินกิจกรรมได้ใช้แนวทางจากเอกสารผลการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS 2016) และมติประจำปีของคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติด (CND)
โครงการฯ ยังได้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลที่มีความความสนใจในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านยาเสพติดของประเทศ ด้วยการประสานงานกับภาคีปฏิบัติงานในหลักการดำเนินนโยบายยาเสพติดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการดำเนินนโยบายยาเสพติดโลก ซึ่งความรู้และหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากงานวิจัยมีความจำเป็น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินนโยบายยาเสพติดตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- โครงการฯ ได้ช่วยเตรียมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS) 2016 และประสบความสำเร็จในการรณรงค์เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายด้านการพัฒนาสำหรับเอกสารขั้นสุดท้ายของการประชุม
- ในปีพ.ศ. 2562 โครงการฯ ได้บรรลุผลการเจรจาทบทวนแผนปฏิบัติการองค์การสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับปัญหายาเสพติดโลก อีกทั้งยังได้ร่วมกับภาคีของโครงการฯ ประกาศใช้แนวปฏิบัติระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและยาเสพติดในคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติด ณ กรุงเวียนนา และด้วยความร่วมมือกับภาคีต่างๆ การนำเสนอและการเจรจาประเด็นข้อมติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติดำเนินไปอย่างประสบผลสำเร็จ
- ผู้แทนรัฐบาลกว่า 80 คนจากประเทศภาคี เช่น โคลอมเบีย ไนจีเรีย เมียนมาและเปรู ได้เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการของแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาทางเลือกในประเทศไทยจากกิจกรรมฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ ส่วนในประเทศเมียนมาและประเทศไทย เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเจ้าหน้าที่ระดับบริหารกว่า 1,000 คนได้เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการด้านสุขภาพ เช่นการลดอันตรายจากยาเสพติด
- ในประเทศโคลอมเบีย ครอบครัวประมาณ 200 ครอบครัวซึ่งรวมกว่า 1,000 ชีวิต ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาทางเลือกต้นแบบเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และพื้นที่อย่างน้อย 1,600 เฮกตาร์ของป่าดิบชื้นในเขตพื้นที่อเมซอนยังได้รับการปกป้องผ่านมาตรการคุ้มครองป่า
- โครงการฯ ร่วมกับภาคี ได้แก่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้สนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของประเทศโคลอมเบียในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเลือกแห่งชาติไปพร้อมกับหลักการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศไทย
- ผลการศึกษาวิจัยของโครงการฯ ได้รับการยอมรับให้นำเสนอไว้ในรายงานยาเสพติดโลกขององค์การสหประชาชาติ ประจำปีพ.ศ. 2559 และ 2561 ว่าด้วยหลักการลดอันตรายในการใช้สารกระตุ้นและจำนวนของเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกพืชเสพติด
- ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2563 โครงการฯ พร้อมด้วยวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอนและ Global Initiative Against Transnational Organized Crime(GITOC) ประสบความสำเร็จในการริเริ่มในการสร้างทัศนะ แนวคิดและเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อการดำเนินนโยบายยาเสพติดเชิงบูรณาการ เช่น ศูนย์ข้อมูลยาเสพติดและการพัฒนา
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศไทย โคลอมเบีย เมียนมา เปรู และอัลเบเนีย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) หน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (IDPC) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ (MFLF) สถาบันเพื่อการวิจัยและรณรงค์ข้ามชาติ (TNI)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม 2558 – พฤษภาคม 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม
www.gpdpd.org