GIZ สนับสนุน กทม. และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ทดลองใช้ระบบมัดจำ–คืนเงินบรรจุภัณฑ์รียูสเต็มรูปแบบที่เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง

วันที่ 18 – 19 มกราคม พ.ศ. 2568 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ร่วมกับ Chula Zero Waste และอีโค่ครูว์ (EcoCrew) สนับสนุนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการนำร่องระบบมัดจำ-คืนเงิน (Deposit Return System: DRS) สำหรับภาชนะใช้ซ้ำ (รียูส) แบบเต็มรูปแบบในเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ โดยสามารถลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ราว 8,000 ชิ้น

บรรยากาศเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง โดยตอนค่ำมีผู้ร่วมชมภาพยนตร์กลางแปลงพร้อมรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในภาชนะแบบใช้ซ้ำได้
เทศกาลกรุงเทพกลางแปลงมีผู้ร่วมงานมากกว่า 4,000 คน โดยร้านค้าอาหารและเครื่องดื่มกว่า 15 ร้านจากเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ถูกกำหนดให้ใช้ภาชนะแบบใช้ซ้ำได้เท่านั้น โดยผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมัดจำ 10 บาทต่อภาชนะ และสามารถรับเงินมัดจำคืนได้เมื่อคืนภาชนะที่จุดรับคืนที่กำหนด
ตลอดสองวันที่จัดงาน มีการใช้แก้วใช้ซ้ำ 1,481 ใบ และชามใช้ซ้ำ 1,127 ใบ พร้อมอุปกรณ์รับประทานอาหารที่ยืมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้ประมาณ 8,000 ชิ้น และลดปริมาณขยะในงานได้อย่างชัดเจน

ภาชนะและแก้วแบบใช้ซ้ำที่ใช้ในงาน
หนึ่งในเป้าหมายหลักของโครงการ CAP SEA คือการสนับสนุน กทม. ลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (SUP) ในงานอีเวนต์สาธารณะขนาดใหญ่ผ่านกลยุทธ์ต้นน้ำ (upstream strategies) ซึ่งเน้นการลดการใช้และการใช้ภาชนะซ้ำ โดยระบบ DRS สำหรับภาชนะใช้ซ้ำถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการจูงใจให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจาก “ผลิต ใช้ ทิ้ง” ไปสู่แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน “ผลิต ใช้ ใช้ซ้ำ”
สำหรับการทำงานในเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง โครงการฯ ได้ประสานงานกับสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักพัฒนาสังคมของ กทม. รวมถึงการให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนงานและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติจากประเทศต่าง ๆ เพื่อนำร่องระบบ DRS ในงานเทศกาลนี้ โดยจะนำผลลัพธ์ที่ได้ไปรวบรวมเป็นรายงานและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ กทม. ใช้เป็นต้นแบบในการขยายระบบ DRS ไปสู่อีเวนต์ขนาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งจะช่วยในการบริหารจัดการอีเวนต์อย่างยั่งยืน และเป็นอีกก้าวสำคัญของกรุงเทพมหานครในการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

จุดคืนภาชนะ โดยมีภาชนะที่ถูกคืนในถัง ณ จุดคืน
“ความสำเร็จของงานครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบนี้สามารถใช้ได้จริงในงานอีเวนต์ต่าง ๆ และจะเป็น ‘วิถีใหม่ (new normal)’ ของการจัดงานต่อ ๆ ไปได้ นอกจากจะลดขยะได้มากแล้ว ร้านค้าต่าง ๆ ยังมองว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย” คุณพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ผู้บริหารด้านความยั่งยืน และที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

คุณพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ผู้บริหารด้านความยั่งยืน และที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือกับคณะทำงานระหว่างการตรวจชมพื้นที่
โครงการ CAP SEA เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกที่มีชื่อว่า “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งดำเนินการทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยที่โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ได้ที่ https://www.thai-german-cooperation.info/th/the-collaborative-actions-for-single-use-plastic-prevention-in-southeast-asia-cap-sea-thailand-component/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง