GIZ จับมือสมาชิกอาเซียน ขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ
คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 30 ท่านเข้าร่วมการประชุมทางเทคนิคระดับภูมิภาคเพื่อการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ
- ผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมอภิปรายในที่ประชุมทางเทคนิคระดับภูมิภาค ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน
- ผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการแบ่งปันองค์ความรู้ และการผสานวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสร้างการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค
- ที่ประชุมได้เสนอให้ผนวกประกันภัยพืชผลทางการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมทางการเงิน เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนวิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนหลังปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน
16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เกาะบาหลี อินโดนีเซีย – คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States) ได้ร่วมอภิปรายสรุปข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายและมาตรการการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในระดับภูมิภาค แม้การเกษตรจะถือเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ แต่ความยั่งยืนของผลผลิตทางการเกษตรกลับถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ ซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายทั่วภูมิภาคและเกษตรกรรายย่อยนับล้านคนต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการต่อการตั้งรับปรับตัวต่อสภาพอากาศมีจำกัด โดยเฉพาะในด้านการประกันภัยพืชผล ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรเป็นอย่างมาก
การประชุมทางเทคนิคระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 30 คนจากกลุ่มประเทศอาเซียน การประชุมนี้ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนะ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน
คณะผู้แทนในที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมไปถึงองค์ความรู้ด้านประกันภัยพืชผลที่ได้ถ่ายทอดให้สมาชิก เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่มีความพร้อมและประสบการณ์ในระดับต่างๆ กัน ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ระยะนำร่อง ไปจนถึงระยะของการยกระดับศักยภาพเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในประเทศ
สองผลลัพธ์ที่ตกผลึกระหว่างการประชุมอภิปรายครั้งล่าสุด ได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการสำหรับนโยบาย และชุดองค์ความรู้นั้น แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการเน้นย้ำความสำคัญของการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร นำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะ และการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค
ดร.ฟาม ควาง มิน (Pham Quang Minh) หัวหน้าแผนกอาหาร เกษตร และป่าไม้ ของสำนักเลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า “การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังช่วยปกป้องเกษตรกรจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ด้วยแนวทางที่เน้นให้ความคุ้มครองทางการเงินเพื่อให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบได้อย่างรวดเร็วนั้น การประกันภัยทางการเกษตรจึงไม่เพียงแต่จะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตรอีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการประชุมอภิปรายครั้งนี้ เราจะสามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เห็นความสำคัญของการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในทิศทางเดียวกัน แบ่งปันข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการทางนโยบายในอาเซียนที่สามารถทำได้จริง และกระตุ้นความร่วมมือในขอบเขตภูมิภาคร่วมกันได้”
คุณเฮียร์มาน อาบู (Hirman Abu) คณะผู้แทนจากประเทศบรูไนดารุสซาลัม เจ้าหน้าที่พิเศษระดับอาวุโสของกระทรวงการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน (SOM-AMAF) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ ในราคาที่สมเหตุสมผลและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง จนสูญเสียทั้งรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นการส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนด้านการประกันภัยและการเสริมสร้างขีดความสามารถให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าใจประโยชน์ของผลิตภัณฑ์การประกันภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมถกถึงความเป็นไปได้ ตลอดจนความท้าทายในการพัฒนาประกันภัยทางการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยยึดตามค่าดัชนีและมาตรฐานความยั่งยืนที่นำเสนอโดยบริษัทบลูมาร์เบิลในอินโดนีเซีย รวมไปถึงต้นแบบนวัตกรรมการประกันภัยทางการเกษตรโดยหน่วยงานการประกันภัยเกษตรของฟิลิปปินส์ (PCIC) โดยในงานยังมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการประกันภัยทางการเกษตรในอาเซียนและข้อแนะนำเกี่ยวกับขีดจำกัดทางเทคนิค ความรู้ และนโยบายสำหรับหลากหลายประเทศที่อยู่ในขั้นต่าง ๆ ของการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานประกันภัยพืชผล โดยผู้ร่วมงานมีความเห็นตรงกันถึงความต้องการในการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในการจัดการการประกันภัย การบริหารจัดการทางการเงินสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้ประกัน ผู้ร่วมประชุมยังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการแบ่งปันเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกันภัยทางการเกษตร นอกจากนั้น การประกันภัยทางการเกษตรและมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น สินเชื่อสีเขียว ยังได้รับการพิจารณาให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และแผนการดำเนินการหลังปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ของอาเซียน เพื่อเสริมศักยภาพความร่วมมือสู่ภาคเกษตรกรที่แข็งแกร่งต่อไป
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหลายสถาบัน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โครงการสนับสนุนการประกันภัยเพื่อพืชผลทางการเกษตรในอาเซียนผ่านความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน (Promotion of Crop Insurance in ASEAN through Public and Private Partnership Project) โดยกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่น – อาเซียน (the Japan ASEAN Integration Fund: JAIF) ดำเนินการโดยบริษัท ซันยู คอนซัลแตนท์ส (Sanyu Consultants) จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงโครงการการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region) โดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
จูเลี่ยน ทอสต์
ผู้อำนวยการโครงการ AgriCRF
อีเมล: julian.tost(at)giz.de
ข่าวที่เกี่ยวข้อง