GIZ จับมือพันธมิตรจัดงานประชุมสัมมนาเพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการเผาในภาคเกษตรกรรมในประเทศไทย

กรุงเทพฯ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการจัดงานประชุมสัมมนาในหัวข้อ “การลดมลพิษทางอากาศผ่านการหลีกเลี่ยงการเผาในภาคเกษตรกรรม” ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ งานประชุมสัมมนาครั้งนี้จัดโดยกลุ่มเครือข่าย Friends of Thai Agriculture (FTA) ร่วมกับบริษัทดีแอลจี เอเชีย แปซิฟิก (DLG Asia Pacific) โดยได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อสำรวจวิธีแก้ปัญหาอันเร่งด่วนของการเผาในภาคเกษตรกรรมด้วยวิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานด้วยการเน้นย้ำถึงบทบาทของการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการเผาในภาคเกษตรกรรมว่า “การประชุมในวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับและตระหนักถึงความท้าทายที่เราเผชิญอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เรามาเพื่ออภิปรายหาแนวทางที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกล การบริหารจัดการเศษวัสดุเกษตรด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่สำหรับชีวมวล วิธีการเหล่านี้จะช่วยลดการเผา และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อีกด้วย”
เครือข่าย Friends of Thai Agriculture (FTA) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของที่ปรึกษาด้านการเกษตรและตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น GIZ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ และโครงการ ThaiRAIN ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้จัดงานสัมมนานี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน โดย GIZ ได้ร่วมผลักดันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคไปสู่แนวทางการทำเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น “โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF)” ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) และ “โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างยั่งยืน (SFF Rice Straw)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)

การเผาในภาคเกษตรกรรมเป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในประเทศไทย และส่งผลกระทบในวงกว้างไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเปิดประชุมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาในภาคการเกษตร โดยได้กล่าวถึงนโยบาย “3R” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้แก่ Re-Habit (เปลี่ยนพฤติกรรม) Replace with High-Value Crop (เปลี่ยนชนิดพืช) และ Replace with Alternate Crops (เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก) นโยบายนี้มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรละเว้นจากการเผา และแทนที่พืชผลในพื้นที่สูงด้วยพืชผลทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า รวมไปถึงการจัดการเศษวัสดุในพื้นที่ต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ

“ผลกระทบจากการเผาในภาคเกษตรกรรมมีความรุนแรงต่อทั้งสุขภาพของประชาชนและต่อสิ่งแวดล้อม เรามุ่งมั่นที่จะหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน และการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกันได้” นายประยูรกล่าว
การประชุมสัมมนาประกอบด้วยการอภิปรายในหัวข้อหลักเกี่ยวกับ “นวัตกรรมและความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม” ซึ่งเน้นไปที่การใช้เครื่องจักรกล การดูแลดิน และการสร้างมูลค่าจากเศษวัสดุจากการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับพืชหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างยั่งยืนของ GIZ ที่ดำเนินการในภาคเหนือของประเทศไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนเศษวัสดุทางการเกษตรให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ด้วยการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักและการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายได้จากฟางข้าว ซึ่งเป็นทางเลือกแทนที่การเผา นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อยได้เป็นอย่างดี
ด้วยความร่วมมือที่เหนียวแน่นกับพันธมิตรและการผลักดันในการปรับใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย GIZ ประจำประเทศไทย ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตรกรรมและส่งเสริมการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคต่อไป
โทเบียส บรอยนิก
ที่ปรึกษา GIZ ประเทศไทย
อีเมล: tobias.breunig(at)giz.de