GIZ ร่วมงาน BIODAY 2025 ส่งเสริมการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและโลกร้อน เน้นให้เยาวชนมีส่วนร่วม

เมื่อวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา GIZ ประจำประเทศไทย โดยโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) เข้าร่วมงาน BIODAY 2025 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้แนวคิด “Bioday Play & Learn: Turn into Action” เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกิจกรรมที่ผสานความรู้ ความสนุก และแรงบันดาลใจเข้าด้วยกัน โดยจัดแสดงที่บูธหมายเลข 6 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(ภาพซ้าย) ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ที่บูธของ GIZ มีผู้เยี่ยมชมกว่า 100 คน โดยร้อยละ 40 เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งมาร่วมกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้าใจด้านนิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบจากโลกร้อน รวมถึงการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่งอย่างเข้าถึงง่าย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป นิทรรศการของ GIZ ได้ถ่ายทอดสาระความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโลกร้อนต่อทะเลและสิ่งมีชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยของหญ้าทะเล การฟอกขาวของปะการัง และพฤติกรรมการอพยพของนกเงือกและหมีขั้วโลก พร้อมกิจกรรมสร้างสรรค์ “Lucky Wheel” ที่ให้ผู้ร่วมงานได้หมุนวงล้อทำนายว่า “เราเหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดใดในโลกที่ร้อนขึ้น” พร้อมรับการ์ดทำนายดวงและเกร็ดความรู้เชิงวิทยาศาสตร์กลับบ้าน ทั้งนี้ กิจกรรมนี้ออกแบบโดยใช้แนวคิดการสื่อสารที่คำนึงถึงเพศสภาพ (gender-sensitive communication) เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและการสื่อสารอย่างเท่าเทียม

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจคือ “มุมเขียนคำมั่น I will… to save biodiversity” ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความตั้งใจมากกว่า 40 คน ถ่ายทอดความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ในการปกป้องธรรมชาติจากมุมมองของแต่ละคน ทั้งนี้ยังมีการแจก “คู่มือการลดก๊าซเรือนกระจกภาคประชาชน” ที่จัดทำภายใต้การสนับสนุนของโครงการฯ โดยมีผู้สนใจขอรับเอกสารคู่มือดังกล่าวกว่า 60 คน นอกจากนี้ บูธ GIZ ยังออกแบบโดยเน้นหลักความยั่งยืน ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ เช่น การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reusable materials) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารถึงการปฏิบัติจริงของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการลดรอยเท้าคาร์บอนในการจัดกิจกรรม
การเข้าร่วมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารนโยบายของโครงการ CCMB ซึ่งสนับสนุนประเทศไทยในการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เช่น พื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs) และ พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective area-based Conservation Measures: OECMs) ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน