สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราคำนึงถึงประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้าง และเป็นโอกาสให้เราได้สร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยในวันที่ 8 -12 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา GIZ ได้จัด “สัปดาห์ความเท่าเทียมทางเพศ” ขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์โควิด-19 วิกฤติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม และพูดคุยเพื่อหาวิธีการในการป้องกัน และการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 คุณ Henriette Geiger ผู้อำนวยการด้านการพัฒนามนุษย์ การย้ายถิ่นฐาน ธรรมาภิบาลและสันติ (Human Development, Migration, Governance and Peace) จากกองอำนวยการความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการยุโรป(European Commission Directorate General for International Partnerships) ได้ให้เกียรติเป็นผู้เปิดงานในครั้งนี้ ร่วมกับคุณ Ingrid-Gabriela Hoven กรรมการผู้จัดการของ GIZ
การรณรงค์เริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยการหารือระดับสูงในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมพลังผู้หญิงของสหภาพยุโรป และการใช้เป้าหมายนี้มาเป็นแนวทางการดำเนินงานของ GIZ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงแผนปฏิบัติการความเท่าเทียมทางเพศปี พ.ศ. 2564 – 2568 ของสหภาพยุโรป (EU Gender Action Plan 2021-2025) นโยบายและการให้ความสำคัญต่อประเด็นความยุติธรรมทางเพศ เช่น ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมของกลุ่มเพศที่สามปี พ.ศ. 2563 – 2568 (LGBTIQ Equality Strategy for 2020-2025)แนวทางและกลยุทธ์การมีส่วนร่วมทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และพหุภาคีของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (TEAM Europe) ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรื่องความสำคัญและโอกาสในการนำประเด็นความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้างในบริบทการทำงานของ GIZ และการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 มาพูดคุยในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยในระหว่าง “สัปดาห์ความเท่าเทียมทางเพศ” GIZ ได้จัดกิจกรรมออนไลน์ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ต่าง ๆ จากประเทศทั่วโลก
ในส่วนของ GIZ ประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดการประชุมประจำปีของ GIZ ประเทศไทย โดยคุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการประจำ GIZ ประเทศไทย และมาเลเซีย ได้เน้นย้ำกับพนักงานในระหว่างการประชุมหัวข้อการแลกเปลี่ยนความรู้ของการเป็นผู้เห็นเหตุการณ์(Bystander) ว่า “การไม่ทนกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ หมายถึง การลงมือทำ และการรู้ว่าต้องทำอะไรนั้นเป็นพลังที่มีค่าซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลาย และการป้องกันการคุกคามทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ที่เพิ่มเข้ามา แต่นโยบายและวิธีการเหล่านี้ช่วยทำให้เราเป็นคนที่ดีและมีคุณค่ายิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอีกด้วย สิ่งนี้ คือ ของขวัญ ไม่ใช่การบังคับ ผมหวังว่าพวกเราจะสามารถดึงความกล้าออกมา และพร้อมที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้”
นอกจากนี้ คณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศประจำ GIZ ประเทศไทย ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยน หลักการของผู้เห็นเหตุการณ์ (Bystander Principle) กับโครงการการพัฒนาศักยภาพเพื่อเยาวชน (Skills Development for Youth Employment – SKYE project) จาก GIZ ประเทศไนจีเรีย ซึ่งได้ร่วมมือกับโครงการ SEDIN (Pro-Poor Growth and Promotion of Employment in Nigeria Programme) ในการประชุม “การสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ” ที่ทาง GIZ ประเทศไนจีเรียจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ก่อนหน้านี้ โดย GIZ ประเทศไทย ได้นำเสนอหลักการของผู้เห็นเหตุการณ์ (Bystander Principle) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการคุกคามทางเพศ ในการประชุมเครือข่ายความเท่าเทียมทางเพศของ GIZ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะทำงานด้านความเท่าเทียมของ GIZ จากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้และสร้างความเข้มแข็ง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่ https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/giz-thailand-shares-knowledge-and-experiences-in-the-fight-against-sexual-harassment