GIZ ร่วมกับจุฬาฯ และ คพ. จัดอบรมภาคส่วนต่างๆ ให้เตรียมพร้อมสู่กฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

ภาพหมู่การจัดอบรม EPR วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 กลุ่มเป้าหมายผู้เก็บรวบรวมและรีไซเคิลและภาคประชาสังคม
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2568 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) และหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับร่างกฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ MA-RE-DESIGN ซึ่งมุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกในทะเลผ่านการออกแบบ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน
การอบรมดังกล่าวมีทั้งหมด 7 ครั้งแบ่งตาม 7 กลุ่มเป้าหมาย โดยจัดอบรม ณ โรงแรมในกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมอบรมรอบละ 40-50 ท่าน จากแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยรวมทั้ง 7 ครั้งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 260 ท่าน ประกอบด้วย

ภาพหมู่การเข้าพบกรมควบคุมมลพิษ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เพื่ออัปเดตผลลัพธ์การจัดอบรมและหารือประเด็นที่เกี่ยวข้อง
- หน่วยงานภาครัฐ – วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
- ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม – วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568
- ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล – วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568
- ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีบรรจุภัณฑ์และใช้ในบ้านเรือน ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย และผู้นำเข้า (รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)) – วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568
- ผู้เก็บรวบรวมและรีไซเคิลและภาคประชาสังคม – วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
- ผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการภาคบริการ (กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม) – วันที่ 14พฤษภาคม พ.ศ. 2568

กรมควบคุมมลพิษนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนในการอบรม วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 กลุ่มเป้าหมายภาครัฐ
การอบรมมุ่งเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด EPR และเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยหัวข้อที่อบรมได้แก่ หลักการ EPR กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบของระบบ EPR เครื่องมือเชิงนโยบายที่ส่งเสริมระบบ CE สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน การจัดตั้งและการดำเนินงานขององค์กรความรับผิดชอบของผู้ผลิต การคำนวณค่าบริการ ตัวอย่างการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต การรายงานข้อมูล การติดตามตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายจากประเทศต่างๆ แนวโน้มกฎหมายของสหภาพยุโรป แนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก (Eco-design) รวมถึงแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นต้น

บรรยากาศโดยรวมในการอบรม EPR
การอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญนำโดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี จากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สเตฟาน โลเล่ จาก ไซคลอส (cyclos) บริษัทเชี่ยวชาญด้าน EPR จากเยอรมนี คุณภัทรพล ตุลารักษ์ ที่ปรึกษาโครงการฯ และอาจารย์อริศรา เหล็กคำ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมทำข้อสอบก่อนและหลังอบรมเพื่อวัดผล และได้รับเกียรติบัตรรับรองจาก GIZ ประจำประเทศไทย และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยโครงการยังได้นำเสนอผลการอบรมเบื้องต้นต่อกรมควบคุมมลพิษในวันที่ 28 มีนาคม รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน EPR และอัปเดตความก้าวหน้าในประเด็นกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนอีกด้วย