GIZ ร่วมกับ Net Zero World เปิดตัวแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS)

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ Net Zero World ซึ่งนำโดยกระทรวงพลังงานของประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Partnerships to Accelerate the Global Energy Transition (PACT) โดย GIZ เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านสภาพภูมิอากาศ และการเสริมสร้างเสถียรภาพภาคพลังงานของไทย โดยในช่วงเปิดงาน คุณโดมินิกา คาลิโนว์สกา ผู้อำนวยการโครงการด้านการขนส่งในประเทศไทยและอาเซียนได้เน้นถึงความซับซ้อนแต่จำเป็นของการผสานรวมเทคโนโลยี BESS เพื่ออนาคตพลังงานที่ยั่งยืน พร้อมย้ำความสำคัญในการระบุช่องว่างในระดับภูมิภาค และหารือการทำงานร่วมกันระหว่าง GIZ และ Net Zero World เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

คุณโรเบิร์ต ฮอร์เนอร์ หัวหน้าฝ่าย Net Zero World ของกระทรวงพลังงานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวยกย่องความเป็นผู้นำในด้านการกักเก็บพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภูมิภาคของประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการเร่งกระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ 9 หน่วยงานและห้องปฏิบัติการแห่งชาติ 10 แห่ง ที่มุ่งเน้นการดำเนินการเชิงปฏิรูปและการระดมการลงทุน คุณฮอร์เนอร์ยังยืนยันว่าไทยเป็นพันธมิตรสำคัญในการมุ่งเน้นด้านการกักเก็บพลังงาน การสร้างแบบจำลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพอาคารเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน
นอกจากนี้ภายในงาน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงานและผู้นำทีมวิจัยเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ BESS ในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ และกล่าวถึงความสำคัญของการเพิ่มทรัพยากร เงินทุน และการตระหนักรู้ของสาธารณชนในการผลักดัน BESS ในไทย ด้านคุณเกา หลิว นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากกลุ่มงานวัสดุด้านพลังงาน ห้องปฏิบัติการระดับชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ (LBNL) ได้ให้มุมมองในระดับนานาชาติ โดยกล่าวถึงการเติบโตของ BESS ในตลาดต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงศักยภาพในการสร้างงานและนวัตกรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนของการใช้ แบตเตอรี่ทุติยภูมิ (Second-life Battery) โดยเน้นถึงความจำเป็นในการจัดทำกฎระเบียบและรูปแบบการเงินเพื่อให้การนำแบตเตอรี่ EV ที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นไปอย่างคุ้มค่า

อีกช่วงหนึ่งที่สำคัญของงานคือการเปิดตัววิสัยทัศน์ Vision 100 โดย คุณลาร์ส อัลเลอร์ไฮลิเกน ที่ปรึกษาผู้จัดการ PACT สำหรับกิจกรรมระดับนานาชาติ จาก GIZ ซึ่งตั้งเป้าหมายในการเข้าถึงพลังงานเป็นไปได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ด้วยความร่วมมือระหว่าง GIZ และ Net Zero World ที่เข้มแข็ง โดยอาศัยประสบการณ์ของ GIZ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และความเชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการของ Net Zero World จากสหรัฐฯ การร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเร่งด่วนในการส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการด้านการสร้างแบบจำลองพลังงาน (Community of Practice: CoP) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างราบรื่น จากนั้น คุณชาติชนิส เกษมวงศ์ ผู้จัดการโครงการ PACT ในประเทศไทยจาก GIZ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของแพลตฟอร์ม BESS และ CoP ที่จะสนับสนุนการร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในภาคพลังงานของไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการกักเก็บพลังงานและการสร้างแบบจำลองพลังงานของไทย โดยมุ่งหวังที่จะปิดช่องว่างสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานและขับเคลื่อนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศ

ในช่วงการหารือ คุณนลินรัตน์ กฤตติยานนท์ กูบา ผู้ประสานงาน Net Zero World ประจำประเทศไทย จากกระทรวงพลังงานสหรัฐห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (NREL) ได้ชี้แจงว่าขอบเขตความร่วมมือนี้ครอบคลุมทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย และไนจีเรีย ซึ่งสะท้อนถึงกลยุทธ์พลังงานสะอาดระดับภูมิภาคที่กว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) และสมาคมเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานแห่งประเทศไทย (TESTA) ยังได้หารือถึงข้อกำหนดทางเทคนิคและกฎระเบียบสำหรับการใช้งานแบตเตอรี่ทุติยภูมิ (Second-Life Battery) โดยคุณเกา หลิว ชี้แจงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการและนักลงทุน ในการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเหล่านี้สู่ตลาดแบบบูรณาการ

คุณคาลิโนว์สกา ปิดงานด้วยการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่ที่ยั่งยืน และการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมถึงการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 GIZ และ Net Zero World ยังคงทำงานร่วมกันในโครงการต่างๆ เช่น แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ BESS แผนงานการกักเก็บพลังงาน และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ ENTEC และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) โดยมีเป้าหมายในการปิดช่องว่างที่สำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย โดยให้ผลลัพธ์ที่ส่งมอบได้ขยายไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 โดยคุณอัลเลอร์ ไฮลิเกน และคุณแซคคารี่ เฮาเซอร์ ที่ปรึกษาสำนักงานกิจการเอเชีย กระทรวงพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันความมุ่งมั่นของ GIZ และ Net Zero World ในการสนับสนุนประเทศไทยสู่เส้นทางการลดคาร์บอนผ่านการสร้างแบบจำลองพลังงาน การสนับสนุนนโยบายด้านพลังงาน และการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน