GIZ ร่วมจัด ‘See, Solutions!’ เพื่อเสริมความร่วมมือในการสู้กับมลพิษพลาสติก ในงาน SEA of Solutions 2024
การประชุม See, Solutions! หัวข้อ การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและทรัพยากร ณ ห้องประชุม 3 ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการด้านการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล เข้าร่วมงาน SEA of Solutions 2024 (SoS 2024) และร่วมจัดงานประชุม See, Solutions! ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและทรัพยากร (Leveraging Partnerships and Resources)” ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าการเป็นพันธมิตรและการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพันธกิจสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร รวมถึงการร่วมสำรวจวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรที่ไม่ใช่เงินได้อย่างเหมาะสม
งาน SoS 2024 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อลดปัญหามลพิษจากพลาสติกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดโดยโครงการ SEA Circular ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสํานักงานประสานงานทางทะเลภูมิภาคเอเชียตะวันออก (COBSEA) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวีเดน โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 งานนี้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือ และส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและแนวทางใหม่ๆ หัวข้อหลักของปีนี้คือ “การขับเคลื่อนเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติก” ซึ่งเป็นแนวทางในการจัดประชุมที่เน้นการแก้ไขปัญหาโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ กรอบนโยบายและกฎหมาย การลงทุนทางการเงิน วงจรห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก (plastics value chain) และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยปีนี้มีการประชุมหลัก 7 ครั้ง และการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ 8 ครั้ง
[ภาพซ้าย] ช่วงเมนติมิเตอร์เชิงโต้ตอบเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมก่อนการเสวนา; [ภาพขวา] อัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
คุณอัลวาโร่ ซูริต้า (Alvaro Zurita) ผู้อำนวยการโครงการจาก GIZ เน้นย้ำถึงการใช้ทรัพยากรที่ไม่ใช่ด้านการเงินอย่างมีกลยุทธ์ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำด้านนโยบาย เพื่อผลักดันผลลัพธ์การพัฒนา GIZ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ การแลกเปลี่ยนความรู้ และความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง GIZ ยังส่งเสริมให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพในท้องถิ่นด้วยการเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการ การฝึกอบรม และเครื่องมือที่จะช่วยให้รัฐบาลแก้ไขอุปสรรคในการพัฒนาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ GIZ ยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนานโยบายและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน วิธีการนี้ช่วยสร้างความเห็นพ้องและขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ คุณอัลวาโร่ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายขอบเขตของโครงการป้องกันขยะพลาสติกไปให้ไกลกว่าเดิม พร้อมกระตุ้นให้เห็นภาพรวมของห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกยิ่งขึ้น รวมถึงการชี้ปัญหาภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน
[ภาพซ้าย] คุณเคท ฟิลป์ (Kate Philp) วิศวกรสิ่งแวดล้อม จากธนาคารโลก (World Bank); [ภาพขวา] คุณรีโอ คาวามูระ (Reo Kawamura) ผู้อำนวยการศูนย์องค์ความรู้ภูมิภาค สถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA)
คุณเคท ฟิลป์ (Kate Philp) วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากธนาคารโลก ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการที่สถาบันต่างๆ ได้เข้าร่วมพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล ซึ่งมุ่งลดขยะในทะเลในประเทศสมาชิกอาเซียน แผนกลยุทธ์นี้ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและสร้างกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศสมาชิกในการร่วมกันจัดการกับปัญหาสำคัญนี้
คุณรีโอ คาวามูระ (Reo Kawamura) ผู้อำนวยการศูนย์องค์ความรู้ภูมิภาคจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้เสริมว่า ERIA ร่วมกับเลขาธิการอาเซียนและเครือข่ายพันธมิตร มีบทบาทสำคัญในการร่างแผนปฏิบัติการนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการประสานงานทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค การพัฒนาระบบการจัดการขยะ และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ คุณรีโอยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือของ ERIA กับภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน+3 (ยกเว้นเมียนมา) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและโครงการด้านนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับขยะพลาสติกในทะเล เช่น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและ ERIA ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่มีความกระตือรือร้นซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูง รวมถึงกระบวนการรีไซเคิลเชิงเคมีและการอัปไซเคิล
[ภาพซ้าย] คุณคริสติน่า เยเกอร์ (Christina Jäger) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ศูนย์สิ่งแวดล้อมยูนุส (Yunus Environmental Hub); [ภาพขวา] คุณปฏิญญา ศิลสุภดล หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)
คุณคริสติน่า เยเกอร์ (Christina Jäger) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการจากศูนย์สิ่งแวดล้อมยูนุส (Yunus Environmental Hub) ได้เน้นถึงบทบาทที่สำคัญของเครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนในการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกอย่างเท่าเทียม นวัตกรรม และการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจอีกด้วย คุณคริสติน่ายังย้ำถึงความสำคัญของการเปิดกว้างในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบใหม่สำหรับความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรัฐบาล ซึ่งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเพื่อดำเนินกลยุทธ์ที่แตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมและรับแนวทางแก้ไขแบบองค์รวมและมีการบูรณาการ
คณปฏิญญา ศิลสุภดล หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนจากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ได้เน้นถึงความสำคัญของโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน(PPP Plastics) ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยและแนวทางการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จะร่วมกันขับเคลื่อน และพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ Producer Responsibility Organisation Voluntary Effort (PROVE) ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ ซึ่งการเปิดให้หน่วยงานเข้าร่วมโดยสมัครใจเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR)
[ภาพซ้าย] ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมอภิปรายห้องประชุมหลัก ช่วงที่ 6: See, Solutions! การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือและทรัพยากร; [ภาพขวา] บูธ 2: นโยบายและมาตรการที่ให้ความสำคัญกับการตอบสนองจากท้องถิ่นและภูมิภาค
การแก้ไขวิกฤตพลาสติกจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุม จึงต้องรวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายด้านมาร่วมกันเพื่อจัดการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นนี้ สำหรับงานในปีนี้นอกจากจะมีการประชุมหารือและการแบ่งปันความรู้แล้ว พื้นที่จัดนิทรรศการยังเต็มไปด้วยโครงการที่ล้ำสมัย ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรที่มีพลัง และผลิตภัณฑ์ความรู้เชิงนวัตกรรม ภายใต้ 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ ความก้าวหน้าทางนโยบายและกฎระเบียบ การเงินที่ยั่งยืน การหมุนเวียนในห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน โดยตลอดสามวันที่จัดงานได้มีกิจกรรมอัดแน่น มีวิทยากรกว่า 70 คนที่ขึ้นพูดบนเวที ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คนในสถานที่จริง และผู้เข้าร่วมออนไลน์กว่า 300 คนจากกว่า 70 ประเทศ งานนี้ช่วยจุดประกายให้เกิดความร่วมมือที่ล้ำค่าสำหรับผู้ที่กำลังมองหาโซลูชันและผู้ให้บริการ ซึ่งจะวางรากฐานให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พลิกโฉมได้ต่อไป
ลิงก์ไปยังโครงการ GIZ ที่กำลังดำเนินการอยู่เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน:
โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณู และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV):
- โครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล (MA-RE-DESIGN): คลิก
- โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA): คลิก
- โครงการ Circular Economy Solutions Preventing Marine Litter in Ecosystems (CES): คลิก
- โครงการ Cities Combatting Plastic entering the Marine Environment (CCP-ME): คลิก
โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ):
- โครงการ Reduce, Reuse, Recycle to Protect the Marine Environment and Coral Reefs (3RproMar): คลิก
คุณอัลวาโร่ ซูริต้า (Alvaro Zurita)
ผู้อำนวยการโครงการ MA-RE-DESIGN CAP SEA และ AMUSE
อีเมล:alvaro.zurita(at)giz.de