GIZ และ WWF ร่วมผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ป่าและต่อต้านการค้าผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2568 GIZ ประจำประเทศไทย ร่วมกับ WWF ประเทศไทย และพันธมิตรในภาคการท่องเที่ยวและการเดินทาง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและเปิดนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

โครงการนี้ ซึ่งนำโดย WWF และได้รับการสนับสนุนจาก GIZ ได้แสดงถึงพลังของความร่วมมือระดับโลก ในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในปัจจุบัน โครงการฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
โดยงานนี้มีไฮไลท์สำคัญ ได้แก่
- งานเสวนากับผู้เชี่ยวชาญ: ผู้เชี่ยวชาญจากภาคการท่องเที่ยวและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายร่วมแบ่งปันประสบการณ์และกลยุทธ์ในการร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยเน้นที่การค้างาช้าง ชิ้นส่วนอวัยวะเสือ และสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Exotic Pets)
- การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม: การพูดคุยและระดมความคิดเพื่อพัฒนากลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและยั่งยืน
- นิทรรศการอนุรักษ์สัตว์ป่า: นิทรรศการนำเสนอเรื่องราวของเสือและช้าง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยจัดแสดงตั้งแต่ 21 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568




บทบาทและความมุ่งมั่นของ GIZ
งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Partnership Against Wildlife Crime in Africa and Asia ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย GIZ มีบทบาทสำคัญดังนี้ 1) สนับสนุนงบประมาณและคำแนะนำเชิงกลยุทธ์เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน 2) ส่งเสริมการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและอันตรายจากการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 3) สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรเอกชน 4) เสริมสร้างกลไกการบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดยั้งเส้นทางการค้าผิดกฎหมาย

“เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ WWF ในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก จากความร่วมมือโดยโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในแอฟริกาและเอเชีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี เราขอย้ำถึงความตั้งใจของเราในการต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ความร่วมมือนี้เน้นความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคเรา การเสริมพลังให้แก่ชุมชน และการสร้างอนาคตที่สัตว์ป่าสามารถเจริญเติบโตควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้” คุณธวัฒชัย ปาละคะมาน ผู้แทนจาก GIZ ประจำประเทศไทย กล่าว
ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนให้เห็นพันธกิจของ GIZ ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการร่วมมือข้ามภาคส่วน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นพลังสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศของโลก
Markus Koeppler (GIZ ประจำเยอรมนี)
อีเมล:markus.koeppler(at)giz.de
Thawatchai Palakhamarn (GIZ ประจำประเทศไทย)
อีเมล:thawatchai.palakhamarn(at)giz.de
ข่าวที่เกี่ยวข้อง