GIZ และพันธมิตรลงพื้นที่เยือนจังหวัดเชียงราย มุ่งยกระดับภาคการปลูกข้าวของไทยให้เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ
GIZ และหน่วยงานภาคีร่วมอภิปรายถึงการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
- GIZ นำโดยคุณทอร์สเทน เชเฟอร์ กึมเบล ประธานคณะกรรมการบริหารพร้อมด้วยคณะภาคี ลงพื้นที่เยือนจังหวัดเชียงราย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกข้าวในประเทศไทยให้มีความเท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ และเป็นแบบอย่างในการทำเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยี
- ระหว่างการลงพื้นที่ภาคสนาม GIZ และคณะฯ ได้พูดคุยกับชุมชนเกษตรกรท้องถิ่น เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินงานสู่แนวทางการปลูกข้าวที่ยั่งยืน
- GIZ และคณะผู้บริหารจากกลุ่มภาคีร่วมการประชุมโต๊ะกลมระหว่างผู้บริหารเพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการขยายแนวทางการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยอย่างทั่วถึง
ช่วงเดือนสิงหาคม คุณทอร์สเทน เชเฟอร์ กึมเบล ประธานคณะกรรมการบริหาร GIZ เดินทางมายังประเทศไทยด้วยพันธกิจสำคัญหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการลงพื้นที่ภาคสนามที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานการปลูกข้าวที่ยั่งยืน โดยมีภาคีหลักจาก 3 หน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งกิจกรรมหลักของการลงพื้นที่ร่วมกันในครั้งนี้คือการประชุมโต๊ะกลมระดับผู้บริหารที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการยกระดับการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
การลงพื้นที่ภาคสนามในช่วงเช้าเริ่มด้วยการเยี่ยมชมแปลงนาสาธิตของเกษตรกรที่อำเภอพาน โดยแปลงนาเนื้อที่ 3 ไร่นี้ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับพื้นที่แปลงนาด้วยระบบเลเซอร์ โดยได้รับการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีจากกรมการข้าว GIZ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จากการประยุกต์ใช้แนวทางดังกล่าว แปลงนาแห่งนี้จึงไม่เพียงแต่ให้ผลผลิตข้าวที่ดีขึ้น แต่เกษตรกรยังสามารถปลูกพืชอื่น ๆ เช่น ฟักทอง หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวสิ้นสุดลงได้อีกด้วย
GIZ และหน่วยงานภาคีเยี่ยมชมแปลงนาสาธิตเกษตรกร ณ อำเภอพาน
ดร.นานา คึนเคล จาก GIZ (ที่สองจากซ้ายมือ) และ ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว (ขวามือ) ถ่ายภาพร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่
จากนั้น คณะภาคีได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไม้หมอนฟาร์ม” ณ อำเภอพาน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนให้เป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรต้นแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยกลุ่มไม้หมอนฟาร์มเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรหญิงได้ทำงานร่วมกันและหารายได้เสริมนอกเหนือจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม่บ้านเกษตรกรกลุ่มนี้เชี่ยวชาญในการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรท้องถิ่น เช่น การนำสมุนไพรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดเชียงรายมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยและสมุนไพรแห้ง ในระหว่างการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะภาคีและกลุ่มเกษตรกรหญิงรายย่อยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน รวมถึงเสวนาเรื่องการพัฒนาที่สามารถทำได้ในอนาคต และกลุ่มเกษตรกรหญิงต้องการได้รับการสนับสนุนในรูปแบบใดต่อไป
คณะภาคีพร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านไม้หมอนฟาร์ม
ตัวแทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรและจากกลุ่มเกษตรกรแม่บ้านไม้หมอนฟาร์ม
การลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกรจากทั้งสองแห่งนี้ มุ่งสร้างความเข้าใจและสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวของประเทศไทยให้เป็นแบบอย่างของการเกษตรที่ปรับตัวเท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่เพียงแต่เน้นแนวทางนำร่องที่ส่งเสริมวิถีการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่เป็นการเปิดพื้นที่่ให้เกษตรกรทุกเพศมีส่วนร่วม ตลอดจนการฟื้นฟูและปรับปรุงระบบนิเวศ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
กิจกรรมและโครงการทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนได้ด้วยเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วยการสร้างระบบการปลูกข้าวที่ยั่งยืนและมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ได้สนับสนุนการดำเนินงานของ GIZ ผ่านโครงการ develoPPP โดย GIZ ประจำประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มโครงการด้านการเกษตรในจังหวัดเชียงราย ร่วมกับภาคีจากภาครัฐและภาคเอกชนหลากหลายองค์กรมานานกว่าสิบปี
ก่อนการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายจะสิ้นสุดลง หน่วยงานภาคีที่สำคัญจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับผู้บริหารและร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การรวมตัวภาคีเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ภาคการเกษตรในประเทศไทย เพื่อการปลูกข้าวไทยที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ” เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของการปลูกข้าวในประเทศไทย
คุณทอร์สเทน เชเฟอร์ กึมเบล ในการประชุมโต๊ะกลมระดับผู้บริหาร
คุณทอร์สเทน เชเฟอร์ กึมเบล ชูประเด็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของภาคการเกษตรในวงกว้าง พร้อมกล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนประเทศไทยและได้พบปะกับภาคีจากภาครัฐ เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการปลูกข้าวไทยไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรและเท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าโครงการนำร่องและผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้นสามารถยกระดับให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ได้ และเราจะสามารถเปลี่ยนการปลูกข้าวและขยายไปสู่ภาคการเกษตรอื่น ๆ ในวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร”
ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายในการปลูกข้าว หนึ่งในนั้นคือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำการเกษตรให้มีความยั่งยืนและเท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศนี้จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนมากกว่าในอดีต กรมส่งเสริมการเกษตรจึงร่วมมือกับ GIZ ด้วยความตั้งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยคุณพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมกล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบอาหารในประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางอาหาร ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศในภาคการเกษตร โดยความร่วมมือกับ GIZ ในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การขยายวิถีการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศและการเกษตรเชิงฟื้นฟู อีกทั้งส่งเสริมแนวคิดการเติบโตที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ ไปพร้อมกับการเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้”
คุณพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
อีกหนึ่งภาคีสำคัญที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้คือ กรมการข้าว โดยกรมการข้าวได้มุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกับ GIZ ในการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเสริมถึงความสำคัญของความร่วมมือนี้เช่นกันว่า “กรมการข้าวกำลังดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกข้าวในประเทศไทยให้มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนี้เกิดขึ้นได้ ทางกรมฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ GIZ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงองค์ความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รักษาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และขยายเครือข่ายตลาดสำหรับข้าวที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ”
คุณวิชัย ปักษา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ ธ.ก.ส.
คุณวิชัย ปักษา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือกันในการช่วยให้เกษตรกรก้าวผ่านอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยี และมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนทางการเงิน โดย ธ.ก.ส. และ GIZ ได้พัฒนาโครงการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญให้แก่เจ้าหน้าที่ในการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรต่อในภายหลัง โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะให้ความรู้ด้านการจัดการความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศแก่เกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังเสริมทักษะที่จำเป็นในการสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับ GIZ นี้ ธ.ก.ส. มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในกลุ่มเปราะบาง พร้อมสนับสนุนทางการเงินควบคู่ไปกับการแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาคีได้เน้นย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายที่ภาคการผลิตข้าวของไทยกำลังเผชิญอยู่ ด้วยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ ประเทศไทยจึงจะมีความพร้อมที่จะก้าวเป็นผู้นำด้านการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและต่อสิ่งแวดล้อม
สริดา คณานุศิษฎ์
โครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (ISRL)
โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Strengthening Climate-Smart Rice Farming: Thai Rice GCF)
อีเมล: sarida.khananusit(at)giz.de