GIZ และ สผ. ร่วมขับเคลื่อนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีสารนาโงยาของประเทศไทย

ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO), โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.), สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.), บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (UAE), GIZ ประจำประเทศไทย และผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน
24 กันยายน พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับพิธีสารนาโงยา การประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง สผ. และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค แห่งรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนเตรียมความพร้อมของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้มีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยสำหรับการดำเนินการและการรับรองพิธีสารนาโงยาภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ของสหประชาชาติ
พิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (ABS) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม โดยประเทศไทยได้ร่วมลงนามเข้าร่วมสัตยาบันพิธีสารนาโงยาใน พ.ศ. 2555 แต่ยังไม่ได้้เข้าร่วมเป็นภาคีฯ โดยโครงการฯ ได้รวบรวมข้อมูล ประเมินช่องว่าง และเสนอแนวทางเตรียมความพร้อม การเสริมสร้างสรรถนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยในการดำเนินพิธีสารนาโงยา โดยเฉพาะด้าน ABS ผลการดำเนินงานพบว่า ช่องว่างที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานตามพิธีสารนาโงยามี 6 ด้าน ได้แก่ 1) กรอบทางกฎหมาย 2) ความรู้ในเชิงเทคนิคและวิทยาศาสตร์ 3) ช่องว่างในเชิงโครงสร้างทางสถาบัน 4) กลไกทางการเงิน 5) มาตรการทางธุรการ และ 6) ศักยภาพของบุคลากร นอกจากนี้ โครงการฯ ได้พัฒนาแผนการเสริมสร้างศักยภาพ และรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนร่วมผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการใน 5 ภูมิภาค
คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้แถลงเปิดงานที่กรุงเทพฯ โดยเน้นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างกรอบกฎหมาย ความพร้อมในการจัดระเบียบข้อบังคับที่เหมาะสม รวมถึงความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ยังเป็นการสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานราชการ ชุมชน นักวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนนวัตกรรมทั้งด้านการเกษตร การแพทย์ และสาขาอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ย้อนกลับไปยังชุมชนท้องถิ่น ปกป้องจากการถูกละเมิดสิทธิจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และสนับสนุนการให้สัตยาบันพิธีสารนาโงยา เพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

คุณประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับพิธีสารนาโงยา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่กรุงเทพฯ
การจัดประชุมระดับภูมิภาคเปิดโอกาสให้มีการสนทนาเชิงโต้ตอบเกี่ยวกับกรอบกฎหมาย การมีส่วนร่วมของชุมชน ในการออกแบบกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในการประชุมแต่ละครั้ง ได้เน้นย้ำความสำคัญของการให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ และเสริมสร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดประชุมจัดขึ้นใน 5 ภูมิภาค ดังนี้:
- วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดจันทบุรี
- วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดกาญจนบุรี
- วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน
การจัดประชุมที่ภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วนและให้ความคิดเห็นที่เป็นประเด็นสำคัญ โดย ดร.ธนิต ชังถาวร จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้เน้นย้ำในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่กรุงเทพฯ ว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ควรรวมทุกภาคส่วน โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการเจรจาแทนนักวิจัย เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรมและโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ในการจัดประชุมที่นครศรีธรรมราชผู้แทนจากชุมชนท้องถิ่นยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรีและเยาวชนเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในกระบวนการของการแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย

ดร.ธนิต ชังถาวร ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO)

แผนภาพแสดงถึงการมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น และนักวิจัยในการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดเชียงใหม่
การพัฒนากรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพของประเทศในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม มุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาศักยภาพทางเทคนิค ทักษะการเจรจา ความตระหนักของชุมชน การส่งเสริมการวิจัย การจัดการทรัพยากรพันธุกรรม การดำเนินงานด้าน ABS ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของพวกเขาอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว อันเป็นหัวใจสำคัญของพิธีสารนาโงยา

แผนผังเส้นทางการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมภายใต้พิธีสารนาโงยา

ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้เข้าร่วมประชุมที่กาญจนบุรีร่วมกิจกรรมเชิงโต้ตอบ โดยร่วมกันวางแผนขั้นตอนการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับพิธีสารนาโงยา

ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นจากการประชุมเชิงปฏิบัติการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ทำแผนภาพที่แสดงถึงความเข้าใจกระบวนการเจรจาต่อรองและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเป็นธรรม ของตัวแทนชุมชน นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนท้องถิ่น

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น นักวิจัย และชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันทำกิจกรรมประเมินความเข้าใจต่อพิธีสารฯ ในการประชุมจังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดจันทบุรี

การประชุมหารือเกี่ยวกับพิธีสารนาโงยาในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการพูดคุยระหว่างสมาชิกชุมชนท้องถิ่น นักวิจัย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นเกี่ยวกับการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียม
พิธีสารนาโงยามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกลยุทธ์ระดับชาติ ซึ่งรวมถึงแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้เป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (NBT) ที่ 7 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (KM-GBF) เป้าหมายดังกล่าวมุ่งเน้นการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม รวมทั้งผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ประเทศไทยได้ยกร่างกฎหมายรองภายใต้พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. และปรับปรุงกฎหมายเพื่อชี้แจงกระบวนการดำเนินงานด้านการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรม และสอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการระบบนิเวศ และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายระดับโลก KM-GBF
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิธีสารนาโงยา : https://www.cbd.int/abs/default.shtml
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติม : www.thai-german-cooperation.info/th/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb