GIZ และ Net Zero World เปิดตัวโครงการเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติด้านการสร้างแบบจำลองพลังงาน

การวางแผนพลังงานต้องใช้ข้อมูลที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งข้อมูลความต้องการพลังงาน ข้อมูลเชิงพื้นที่ ข้อมูลพลังงานที่สามารถผลิตได้ ข้อมูลที่มาจากหลายภาคส่วนนี้ จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนนโยบาย และสร้างแบบจำลองพลังงานที่แม่นยำมากขึ้น การประสานงาน การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจึงมีความสำคัญอย่างมาก
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับโครงการ Net Zero World ซึ่งนำโดยกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวโครงการเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติด้านการสร้างแบบจำลองพลังงาน (Community of Practice: CoP) โดยงานนี้จัดขึ้นที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โครงการ COP นี้ก่อตั้งเพื่อรับมือกับความท้าทายในการกำหนดนโยบายและการสร้างแบบจำลองพลังงานของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายโดยใช้การสร้างแบบจำลองพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการเปิดงานครั้งนี้ คุณฤกษ์ฤทธิ์ เคนหาราช ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศท.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เน้นย้ำถึงปัญหาด้านบุคลากรและการขาดแคลนศูนย์ข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์พลังงานในประเทศไทยมีความซับซ้อน แต่ด้วยการสนับสนุนจาก GIZ และ Net Zero World รวมถึงพันธมิตรทางการศึกษา จะช่วยให้ความสามารถด้านการสร้างแบบจำลองพลังงานของประเทศไทยพัฒนาและก้าวต่อไปข้างหน้า

ทั้งนี้เครือข่ายชุมชน CoP ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ Partnerships to Accelerate the Global Energy Transition (PACT) นั้นจะร่วมทำงานกับโครงการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้เครือข่ายชุมชน CoP มีส่วนในการปรับปรุงแบบจำลองพลังงานของไทยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
คุณนลินรัตน์ กฤตติยานนท์ กูบา ผู้ประสานงาน Net Zero World ประจำประเทศไทย จากกระทรวงพลังงานสหรัฐห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (NREL) ได้นำเสนอความร่วมมือกับ สนพ. ภายใต้โครงการ “LEAP Modelling Progress and Next Steps” ซึ่งให้การฝึกอบรมด้านแพลตฟอร์ม Low Emissions Analysis Platform (LEAP) จะเน้นการใช้งานกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในระยะแรก ทั้งนี้ โครงการมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ สนพ. ด้านการพยากรณ์พลังงาน การสร้างสถานการณ์ทางพลังงาน และการปรับแต่งระบบพลังงาน แม้ว่าจะมีความท้าทายด้านการเก็บข้อมูลและการปรับปรุงระบบ แต่ก็มีการวางแผนเพื่อขยายการสร้างแบบจำลองไปยังภาคส่วนอื่น ๆ

คุณธชทัต คูวรากุล หัวหน้าโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน (TGC EMC RE) ของ GIZ ประจำประเทศไทย ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับของโครงการ TGC EMC RE ว่า มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภาคการไฟฟ้า การขนส่ง และอุตสาหกรรม โครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการลดคาร์บอน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคนโยบาย ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาศักยภาพ และการรับรองมาตรฐาน

คุณลาร์ส อัลเลอร์ไฮลิเกน ที่ปรึกษาผู้จัดการ PACT สำหรับกิจกรรมระดับนานาชาติ จาก GIZ ได้แนะนำโครงการ Vision 100 ซึ่งมีเป้าหมายในการเข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืนให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2573 และการลดการปล่อยคาร์บอนของภาคพลังงานทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2593 โดยเน้นถึงจุดแข็งของความร่วมมือระหว่าง GIZ และ Net Zero World ที่เกิดจากการดำเนินการของ GIZ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และการสนับสนุนด้านเทคนิคจากห้องปฏิบัติการของสหรัฐฯ คุณแซคคารี่ เฮาเซอร์ ปรึกษาสำนักงานกิจการเอเชีย กระทรวงพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ขยายความถึงโครงการ Net Zero World ที่ใช้ความเชี่ยวชาญจาก 9 หน่วยงานและห้องปฏิบัติการของสหรัฐฯ 10 แห่ง เพื่อสนับสนุนเส้นทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero) ของประเทศไทย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงบทบาทผู้นำของประเทศไทยในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่คุณชาติชนิส เกษมวงศ์ ผู้จัดการโครงการ PACT สำหรับประเทศไทย โดย GIZ ประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงรายละเอียด ของโครงการ PACT เช่น แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และเครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติด้านการสร้างแบบจำลองพลังงาน (CoP) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาข้อมูลและรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคพลังงานของไทย โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และขยายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย

ในช่วงการหารือ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์หลายด้าน เช่น
- ความร่วมมือเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
- การบำรุงรักษารูปแบบจำลองพลังงานและเน้นถึงความจำเป็นในการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
- ประเทศอย่างเยอรมนีและสหรัฐฯ มีวิธีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งประเทศไทยต้องปรับใช้ให้เหมาะสม และอาจจะประยุกต์ใช้ข้อมูลจากประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงเพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างในข้อมูลที่มีปัจจุบัน
- ข้อมูลในภาคการขนส่งมีความสมบูรณ์มากกว่าภาคอื่นๆ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังขาดข้อมูลที่สำคัญสำหรับการสร้างแบบจำลองพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

การประชุมสิ้นสุดลงด้วยการยืนยันจาก GIZ และ Net Zero World ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทย โดยเน้นไปที่การสร้างแบบจำลองพลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การมีส่วนร่วมข้ามภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันข้อมูลจากทางภาคเอกชน มีความสำคัญในการเสริมสร้างการสร้างแบบจำลองพลังงานและแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทยต่อไป

