GIZ- กรมโยธาฯ ร่วมพัฒนาเมืองยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ สู่การวางกลยุทธ์และการลงมือปฏิบัติ
- ร่วมเรียนรู้ว่าเมืองกำลังเผชิญหน้ากับความร้อนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไรและจะทำอย่างไรเพื่อลดอุณหภูมิ พร้อมแนวทางแก้ไขด้วยชุดความรู้ใหม่จากโครงการ Urban-Act
- แนวทางตามหลักวิทยาศาสตร์นำเสนอข้อมูลให้นักวางผังเมืองและผู้กำหนดนโยบายเมืองนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างเมืองที่รับมือกับสภาพอากาศได้
- ศึกษาการสร้างเมืองสีเขียวจากจีนที่เปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมให้กลายเป็นสวนสาธารณะ และนำระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้
GIZ ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ Urban-Act ร่วมจัด “ซีรีส์การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อพัฒนาเมืองที่ความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวได้จากผลกระทบสภาพภูมิอากาศ” อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการการวางผังเมืองในทุกระดับ โดยเน้นความรู้เกี่ยวกับกรอบนโยบาย การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการออกแบบเมืองและอาคาร รวมทั้งการนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานจากทั้งผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ ซึ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้งจะคำนึงถึงบริบทของระบบการวางผังเมืองของไทย เพื่อให้นักวางผังเมืองสามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสัมมนาวิชาการครั้งล่าสุดในหัวข้อ “ทิศทางการวางพื้นฐานด้านเมืองและสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การวางแผนกลยุทธ์ และการนำไปสู่การปฏิบัติ” จัดขึ้นเมื่อวันที่14 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 9.30 – 12.00 น. ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง พระราม 9 มีผู้สนใจเข้าร่วมงานที่กรมฯ และทางออนไลน์รวมกว่า 100 คน โดยมีคุณอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง และคุณไฮน์ริช กุเดนุส ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
การสัมมนาเริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศขั้นพื้นฐานและการนำมาใช้ในการพัฒนาเมือง” (Urban Climate Science fundamentals) รศ.ดร.แคธี่ โอเค่ (Assoc. Prof. Dr Cathy Oke) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเมลเบิร์นเพื่อการพัฒนาเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาคาร และการวางแผน มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นำเสนอเนื้อหาจาก “บทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบายเมือง (The Summary for Urban Policymakers (SUP)) ซึ่งเป็นข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาสรุปเพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจของเมืองสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อช่วยยกระดับให้เมืองสามารถดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและฟื้นตัวได้
การนำเสนอแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ผลวิจัยล่าสุดด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับเมืองและพื้นที่เมือง 2) ผลกระทบ การปรับตัว และความเสี่ยงที่เมืองต้องเผชิญ และ 3) กลยุทธ์การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับเมือง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://supforclimate.com/.
รายงาน IPCC ฉบับล่าสุดได้เน้นถึงการขยายตัวของเมืองในอนาคต เมื่อพิจารณารวมกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น คลื่นความร้อน จะยิ่งทำให้ความร้อนในเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของเมืองเพียงอย่างเดียว แม้ไม่มีอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะทำให้ผลกระทบเกาะความร้อนในเมืองรุนแรงขึ้น โดยปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิและความร้อนที่มักจะสูงขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นผลจากมวลความร้อนถูกกักเก็บและกดไว้ราวกับถูกฝาครอบ จึงทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เกิดความเครียด และมีปัญหาสุขภาพ แม้มนุษย์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในระยะยาวได้ แต่ความผันผวนในระยะสั้นอาจทำให้อัตราการตายและการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ ดร.โอเค่ยังสะท้อนให้เห็นว่า เมืองและเขตเมืองมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายทางเลือกในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ เช่น การขนส่งคาร์บอนต่ำ อาคารประหยัดพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ
การตั้งเป้าหมายเชิงนโยบายของการพัฒนาเมืองที่ท้าทายจะนำไปสู่การออกแบบและการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีทั้งในด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน
คุณจาง ตงหยู จากกรมวิจัยนโยบายและกฎระเบียบ ศูนย์ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศ (NCSC) ได้แบ่งปันประสบการณ์จาก “โครงการนำร่องการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำและเมืองที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศจีน”
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 กลยุทธ์ระดับชาติของจีน คือให้ความสำคัญทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลยุทธ์การลดก๊าซฯ จีนมุ่งเน้นการวางแผนระยะยาวด้านพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่กลยุทธ์การปรับตัวฯ จีนเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังความเสี่ยงและการบริหารจัดการระบบธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการนำร่องจำนวน 28 โครงการในปี พ.ศ. 2560 ต่อมากลยุทธ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติจนถึง พ.ศ. 2578 และในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มโครงการใหม่อีก 39 โครงการ
ตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ เช่น 1) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าในเมืองจี่หนานให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สวยงาม 2) ระบบขนส่งสาธารณะสีเขียวและคาร์บอนต่ำในเมืองเซี่ยเหมิน 3) โครงการเมืองฟองน้ำในเมืองฉางเต๋อ และ 4) การฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่เหมืองถ่านหินในเมืองหวายเป่ย โครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (โปรดดูภาพขยายด้านล่าง)
สุดท้าย ดร.จาง หย่งเซียง รองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติจีน (NFCC) ได้นำเสนอเรื่อง เกาะความร้อนในเมือง (UHI) ซึ่งมีเนื้อหาการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจติดตามผลกระทบของสภาพภูมิอากาศระดับจุลภาคในเมือง (อุณหภูมิ ความชื้น) โดยใช้ระบบการจำแนกพื้นที่ภูมิอากาศท้องถิ่น (LCZ) ซึ่งการศึกษานี้ได้ตรวจสอบความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างพื้นที่ที่มีอาคารและพื้นที่ไม่มีอาคาร รวมถึงผลลัพธ์ของการใช้พลังงานในอาคารเมื่อติดตั้งหลังคาสีเขียว
ดร.จางยังได้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฎการณ์เกาะความร้อนในเมือง โดยใช้ข้อมูลจากพื้นที่เมืองและชนบทใน 15 เมือง เพื่อศึกษาผลกระทบของอุณหภูมิและความชื้นที่มีผลต่อมนุษย์ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าภายใต้สภาพอากาศที่คล้ายคลึงกัน พื้นที่เมืองและชนบทได้รับผลกระทบต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในด้านความถี่และระยะเวลาที่เมืองได้รับคลื่นความร้อนและคลื่นความหนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่เมืองที่มีอาคารสูงและมีพื้นผิวคอนกรีตจะมีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบของเกาะความร้อนในเมือง ดังนั้นพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำจึงมีบทบาทสำคัญในการลดอุณหภูมิและปรับปรุงคุณภาพอากาศในเขตเมือง
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เมืองสามารถดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังได้ หากเมืองสามารถดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับมาตรการการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
อัลบั้มภาพ
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล: heinrich.gudenus(at)giz.de