GIZ-กทม. จัดงานระดมความคิดทำคู่มือการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาฉบับใหม่

GIZ Thailand and BMA organise an ideation workshop for the new solar PV rooftop guidebook
- GIZ ประจำประเทศไทย และ กทม. ร่วมจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาในพื้นที่เมืองจากบริบทของกรุงเทพมหานครฯ
- ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคู่มือการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาฉบับใหม่ของ กทม. โดยได้รับการสนับสนุนจาก GIZ ประจำประเทศไทย
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 กลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC – Renewable Energy Component) ดำเนินการโดย GIZ ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานครฯ (กทม.) ร่วมจัดงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นสำหรับคู่มือการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา” ณ โรงแรมสกายวิว ซอยสุขุมวิท 24 โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 40 คน ประกอบด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากกทม. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ผู้ครอบครองที่พักอาศัยและอาคารในกรุงเทพฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TGC EMC เพื่อสนับสนุน กทม. ในการพัฒนาจัดทำคู่มือติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาฉบับใหม่ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเขตเมืองกรุงเทพมหานครฯ
“ในฐานะประชาชนผู้อยู่อาศัย และผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายและบริการให้แก่ประชาชนในเมืองนี้ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราได้มาร่วมอภิปรายว่าคู่มือการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนอาคารฉบับใหม่ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถตอบคำถามและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกันในการจัดทำคู่มือฉบับนี้ เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครฯ ในการพัฒนาพลังงานสะอาด การลดของเสีย และการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ” คุณวรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวระหว่างเปิดงาน

คุณวรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.
“พื้นที่เขตเมืองไม่ใช่เพียงสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งความหวังและเป็นบ้านของประชากรที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เราจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในบริบทนี้” คุณอินซ่า อิลเก้น ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC จาก GIZ ประจำประเทศไทย กล่าว

คุณอินซ่า อิลเก้น ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC จาก GIZ ประจำประเทศไทย
งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เริ่มด้วยการบรรยายโดย คุณธชทัต คูวรากุล หัวหน้ากลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน โครงการ TGC EMC จาก GIZ ประจำประเทศไทย ในหัวข้อพลังงานแสงอาทิตย์บนตัวอาคารในพื้นที่ชุมชนเมือง และแนะนำแผนปฏิบัติการในการพัฒนาคู่มือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนตัวอาคารฉบับใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับ กทม. ต่อมา คุณอทิเมท เทียมสอาด ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ได้บรรยายเจาะลึกเชิงเทคนิคถึงแผนนโยบาย การปฏิบัติการ ความท้าทาย และประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาในที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเมือง

คุณธชทัต คูวรากุล หัวหน้ากลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน โครงการ TGC EMC จาก GIZ ประจำประเทศไทย

คุณอทิเมท เทียมสอาด ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์
หลังจากการบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้เข้าสัมมนาได้ร่วมระดมความคิดเห็นในกลุ่มย่อย เพื่อรวบรวมความคิดเห็นด้านเนื้อหา เงื่อนไข และรายละเอียดอื่นๆ ที่คู่มือการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาควรมี จากนั้นจึงนำเสนอแนวความคิดให้กลุ่มอื่นๆ ได้วิเคราะห์และอภิปรายเพิ่มเติม โดยความคิดเห็นที่ได้จากงานสัมมนาครั้งนี้จะนำไปพิจารณาในโครงการจัดทำร่างคู่มือในช่วงต้นปี พ.ศ. 2568 ต่อไป
“ประเด็นพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความท้าทายสำหรับ กรุงเทพมหานครฯในฐานะหน่วยงานภาครัฐผู้ถือข้อมูลที่เป็นกลางและมีบทบาทในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ประชาชน หนังสือคู่มือนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมข้อมูลการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ซึ่งสามารถนำไปประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนต่อไป” คุณพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครฯ กล่าวระหว่างช่วงปิดงานสัมมนา
โครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) สนับสนุนประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ผ่านการดำเนินงานในห้ากลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ThaiCI) โดยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรม ผ่านหลักบูรณาการหลายภาคส่วน
Gallery
คุณธชทัต คูวรากุล
หัวหน้ากลุ่มงานพลังงานหมุนเวียน โครงการ TGC EMC
อีเมล: thachatat.kuvarakul(at)giz.de