ความร่วมมือเยอรมัน-ลาวผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เวียงจันทน์ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567 – โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฏาน) (SCP Outreach Asia – The Next Five) เน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนให้เป็นแนวทางหลักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการลดขยะและมลพิษ นอกจากนี้ โครงการ SCP Outreach ยังเห็นถึงบทบาทสำคัญของมาตรฐานและข้อมูลของผู้บริโภคในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
รัฐบาล สปป.ลาว ได้ยืนหยัดถึงพันธกิจต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยส่งเสริมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน ซึ่งเป็นเสาหลักของการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP) เห็นได้จากแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2564 – 2568) ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนงานการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2565 – 2568 และแผนปฏิบัติงานการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวโดยภาครัฐ พ.ศ. 2563 – 2568 ซึ่งแผนเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
รัฐบาล สปป.ลาว ได้พัฒนานโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Public Procurement: GPP) โดยภาครัฐอย่างก้าวกระโดดและนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญภายใต้ SDG เป้าหมายข้อที่ 12 นั่นคือการสร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยรับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (SCP Outreach in Asia) ยิ่งไปกว่านั้น สปป.ลาว กำลังเริ่มพัฒนาแผนฉลากสิ่งแวดล้อม “Lao Green Label” เพื่อตอกย้ำถึงพันธกิจต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสปป.ลาวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้จัดงานสัมมนาแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567
คุณสุณเดช สุขเจริญ รองอธิบดีกรมแผนการและการเงิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาว่า “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP) เป็นหัวใจสำคัญด้านนโยบายของสปป.ลาวในการยกระดับประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดการก่อให้เกิดขยะอย่างเป็นระบบเพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับกระทรวงการเงิน และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าอย่างใกล้ชิดในการยกระดับการนำการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวโดยภาครัฐ (GPP) และแผนฉลากสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ SCP Outreach ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี สปป.ลาวได้รับความรู้และประสบการณ์อันทรงคุณค่า โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศเยอรมนีและประเทศที่มีความก้าวหน้าประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซีย ความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของความคิดริเริ่มเหล่านี้
ดร.อุลฟ์ เยเคล หัวหน้าส่วน T III 2 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า “ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องเร่งแก้ไข โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐนั้นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยปรับโครงสร้างตลาดและผลักดันให้เกิดความยั่งยืน การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกโดยครอบคลุมถึงสินค้าและบริการที่หลากหลายตั้งแต่โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ไปจนถึงของใช้ประจำวันในสำนักงาน การตัดสินใจด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐนั้นจึงมีอิทธิพลต่อภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการกระตุ้นให้เกิดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน”
รัฐบาลเยอรมนีชื่นชมความมุ่งมั่นของรัฐบาลสปป.ลาวในการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวโดยภาครัฐและสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืน สปป.ลาวกำลังเร่งแก้ไขประเด็นสำคัญ เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างรู้คุณค่า ลดปริมาณขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลลาวได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในการบ่มเพาะเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้แสดงให้เห็นว่าการนำร่องโดยภาครัฐจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชนผ่านโครงการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวโดยภาครัฐได้