GCI III ร่วมปรับปรุงหลักสูตรการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย
27-28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว ระยะที่ 3 (GCI III) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุง หลักสูตรการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยเพิ่มเนื้อหาด้านทฤษฎีของสารทำความเย็นที่ติดไฟและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเชิงเทคนิค เพื่อพัฒนาช่างมีทักษะและความรู้เท่าทันระดับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น
ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผ่านการฝึกอบรมจากกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) และกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF) เจ้าหน้าที่กองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึกที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก และกลุ่มงานพัฒนาผู้ฝึกและผู้ประเมิน
ตลอดสองวันผู้เข้าร่วมได้ร่วมปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมยกระดับฝีมือ การจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดทำคู่มือสำหรับวิทยากร (Instructor Handbook) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมต่อไป โดยหลักสูตรใหม่นี้จะนำไปใช้ในการฝึกขยายผลช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งมีระยะเวลา 18 ชั่วโมง (3 วัน)
ในปี พ.ศ. 2568 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีแผนการดำเนินโครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย ยกระดับสมรรถนะกำลังคนด้านการทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Cooling) โดยจะนำหลักสูตรใหม่นี้ไปพัฒนาช่างเทคนิคที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,400 คน รวมถึงเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ด้านการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งและทดสอบเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ
โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (GCI) ระยะที่ 3 ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยดำเนินการในประเทศไทย เวียดนาม บังกลาเทศ เคนยา อูกันดา โคลอมเบีย และฮอนดูรัส
สำหรับประเทศไทย โครงการฯ ร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และกองทุนนวัตกรรมความเย็น (Cooling Innovation Fund: CIF) ผ่านการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยวิธีการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling) เพื่อหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากภาคส่วนการทำความเย็น และส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ของเอเชีย
สามารถรับชมวิดีโอการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้ที่นี่
คุณศิริพร ภาวิขัมภ์
หัวหน้าโครงการ GCI III ประเทศไทย
อีเมล: siriporn.parvikam(at)giz.de