อ้วนแต่ขาดสารอาหาร

เป็นเวลาตีสามครึ่งที่พยาบาลวัยกลางคนผู้หนึ่งเดินโซเซออกจากโรงพยาบาล เธอเหนื่อยล้าเพราะทำงานสองกะติดต่อกัน จากการทำงานในโรงพยาบาลกว่าสิบปี เธอได้เห็นผลของการไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง แต่ ณ เวลานี้เธอกำลังหิวและไม่อยากเสียเวลาและเงินทำอาหารไปกับวัตถุดิบที่แพงเกินควร กลิ่นก๋วยเตี๋ยวผัดไทยโชยมาจากรถเข็นขายอาหารทำให้เธอไม่สนใจแล้วว่าตัวเองจะน้ำหนักเกินแค่ไหน
ความมั่นคงด้านอาหารของชาวเมืองเป็นปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นกับเราได้ง่ายกว่าที่คิด ความมั่นคงด้านอาหารและโรคอ้วนมักถูกมองเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เวลาเรานึกถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารและความหิว เรามักนึกถึงภาพเด็กผอมๆ ที่อาศัยในประเทศที่ขาดแคลน แต่ที่จริงแล้วความไม่มั่นคงด้านอาหารเกิดขึ้นทุกที่และมักเกิดในประเทศที่มีอาหารเหลือมากกว่าประเทศที่ขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยซึ่งมีชื่อเสียงด้านส่งออกข้าวและผลไม้ยังหนีไม่พ้นปัญหานี้ สำนักกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) รายงานว่าคนไทยกว่า 10 ล้านคนขาดสารอาหาร แปลกนักที่คนเหล่านี้ไม่ได้หน้าตาเหมือนเด็กยากจนตามที่เราจินตนาการ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพกล่าวไว้ว่า คนไทย 1 ใน 3 น้ำหนักเกินและ 1 ใน 10 มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน
เป็นไปได้อย่างไรที่โรคอ้วนและความไม่มั่นคงด้านอาหารพบอยู่ในที่เดียวกับที่ที่สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอ ที่ให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้นักวิจัยจากสำนักงานการสัมภาษณ์และสำรวจสุขภาพพบว่าคนทำงานอาชีพด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้หญิง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนอันดับสองรองจากอาชีพด้านการรักษาความปลอดภัย โรคอ้วนนั้นพบได้ทั่วไปในสังคมเรา และคนอ้วนก็เป็นโรคขาดสารอาหารได้
คำนิยามของความมั่นคงทางอาหารที่ได้ตกลงในการประชุมสุดยอดอาหารโลกในปี พ.ศ. 2539 คือ ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนมีกำลังทางกายภาพและเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงอาหารเพียงพอและปลอดภัยได้ทุกเวลา และมีโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติและสุขภาพดี
ถ้าเรากลับไปทำความเข้าใจกับความหมายของความมั่นคงด้านอาหาร เราจะพบว่าความซับซ้อนของปัญหานั้นต้องดูให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่แค่การผลิตอาหาร ความพร้อม การประกอบอาหาร แต่ยังมีมิติอื่นที่ควรคำนึงถึง เช่น การเข้าถึงอาหาร ผู้ที่ขาดความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ต่ำเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนสูงเพราะไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและสุขภาพดีได้ ส่งผลให้ขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
ถึงแม้ว่าอาหารเพื่อสุขภาพอย่างอาหารชีวจิตยังเป็นที่นิยม รายงานผู้บริโภคเผยว่าอาหารประเภทดังกล่าวมักราคาสูงกว่าทั่วไปร้อยละ 20-100 ซึ่งมีกลุ่มคนเฉพาะจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีกำลังซื้อ ส่วนผู้ที่ไม่มีกำลังซื้อนั้นต้องพึ่งผลิตภัณฑ์เกษตรธรรมดา ซึ่งปริมาณสารเคมีที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“ผมเองยังรู้สึกกลัวเวลาทานผักและพยายามที่จะล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน ทำไงได้ในเมื่อเราใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง แบบนี้มานานแล้ว เราถึงสามารถขายผักได้” คุณบัวชีน ผู้ขายผักกล่าว
ในอดีตวิธีแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหารมักเน้นที่การผลิต แต่ปัจจุบันได้มีความตระหนักและยอมรับมากขึ้นว่า การผลิตอาหารให้เพียงพอไม่ได้หมายถึงความมั่นคงด้านอาหาร การลดความหิวไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความมั่นคงด้านอาหาร ในอีก 35 ปีจะมีจำนวนคนที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ถึง 90 ล้านคน สุดท้ายแล้วปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่ความเพียงพอของอาหาร หรือการผลิตอาหารให้เพียงพออย่างที่หลายคนเข้าใจ การบริโภคที่ไม่มีประโยชน์ยังนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ความยากจนและรายได้ต่ำของชาวเมืองก็เป็นปัญหาหลักที่มีผลต่อการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและอาหารเพื่อสุขภาพ แม้แต่ผู้ที่ทำงานในสายอาชีพสาธารณสุขซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เช่น พนักงานต้อนรับ นางพยาบาล หากเราไม่เริ่มคำนึงถึงการเข้าถึงและกำลังซื้อ จำนวนคนที่จะต้องพึ่งพาอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และคนที่น้ำหนักสูงแต่ขาดสารอาหารจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อเป็นการเตรียมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว โครงการระบบเกษตร- อาหารอย่างยั่งยืนของอาเซียนภายใต้ GIZ ในนามของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศอาเซียน

“เมื่อเราพูดถึงความพอเพียงด้านอาหาร จะเห็นว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฉันคิดว่าประเทศเรามีปัญหาด้านการเข้าถึงอาหาร ในสังคมนั้นแต่ละคนมีรายได้ต่างกัน ซึ่งหมายความว่าบางคนอาจไม่มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ในขณะที่คนอื่นไม่มีกำลังทรัพย์ที่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว อีกสิบปีข้างหน้าปัญหานี้จะยิ่งร้ายแรงหากเราไม่มีนโยบายด้านอาหารและโภชนาการที่มั่นคงระดับประเทศในเร็ววัน” คุณปทุมวดี อิ่มทั่ว นักวิเคราะห์แผนและนโยบายที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติกล่าว
เป็นไปได้อย่างไรที่โรคอ้วนและความไม่มั่นคงด้านอาหารจะพบอยู่ที่เดียวกับที่ที่สามารถผลิตอาหารเพียงพอให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี
ผู้ที่ขาดความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ต่ำมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนสูง เพราะไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและสุขภาพดีได้ ส่งผลให้ขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
ถึงแม้ว่าอาหารเพื่อสุขภาพอย่างอาหารชีวจิตยังเป็นที่นิยม รายงานผู้บริโภคเผยว่าอาหารประเภทดังกล่าวมักราคาสูงกว่าทั่วไปร้อยละ 20-100
GALLERY
พัทธมน วัฒนวาณิชกร
Email:pattamon.wattanawanitchakorn(at)giz.de