“36 ปีกับการทำงานด้านการพัฒนาของชเตฟาน เฮลมิง”
36 ปีกับการทำงานที่ GIZ และมากกว่า 2 ปี ในตำแหน่งผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซียของมร.ชเตฟาน เฮลมิง ก่อนเข้าสู่เส้นทางแห่งวัยเกษียณ 2561
ปีพ.ศ. 2525 มร.เฮลมิง เริ่มการทำงานที่ GTZ ( ชื่อเดิมของ GIZ) ในตำแหน่งผู้ช่วยโครงการ ในประเทศโซมาเลีย ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารด้านความร่วมมือกับประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียอีกหลายตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายองค์กร และฝ่ายภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางของ GTZ สำนักงานใหญ่ ที่เมืองเอชบอร์น ประเทศเยอรมนี และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ถึงปีพ.ศ. 2549 มร.เฮลมิง ก็ได้เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการของ GTZ International Services (GTZ IS) ที่ประเทศเอธิโอเปีย จนมาปีพ.ศ. 2558 มร.เฮลมิงได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการศูนย์นวัตกรรมการเกษตรและอาหารและรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศอินเดีย ในปีพ.ศ. 2553 ถึงพ.ศ. 2557
ด้วยความมุ่งมั่นและอุทิศตนในการทำงานที่ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นเวลากว่า 2 ปีนับแต่ปีพ. ศ. 2558 มร.เฮลมิง ได้นำทีม GIZ ดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมาย และเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีที่มีมายาวนานระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี ความสำเร็จที่เด่นๆได้แก่
• งานครบรอบ 60 ปี หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไทย-เยอรมัน ซึ่งจัดร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไทก้า) เพื่อเฉลิมฉลองความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนี ในสาขาต่างๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา
• การเปิดสถาบันเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (AIZ) ในประเทศไทย ซึ่ง AIZ เป็นสถาบันฝึกอบรมของ GIZ และประมาณร้อยละ10 – 15 ของการฝึกอบรมของ GIZ ทั่วโลก จัดขึ้นที่ประเทศไทย
• การริเริ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก NAMA Facility โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้างและความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) และกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ของสหราชอาณาจักร (DECC)
• การริเริ่มโครงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเยอรมัน – ไทย ซึ่งประกอบไปด้วยการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร พลังงาน นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ ขยะ และน้ำ
• การริเริ่มโครงการพัฒนาระบบนิเวศด้านพลังงานที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Nexus SEA) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการใช้พลังงานอัจฉริยะ
• การผลักดันให้เกิดความสำเร็จของโครงการการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย โครงการระบบเครือข่ายพลังงานทดแทนสำหรับเกาะไทย และตัวบ่งชี้การขนส่งที่ยั่งยืนในอาเซียน
• งานครบรอบ 50 ปี โครงการโคนมไทย – เยอรมัน ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการยกระดับการเลี้ยงสัตว์ใน จ.เชียงใหม่ โดยพัฒนาการเลี้ยงโคนม โคเนื้อ การปรับปรุงทุ่งหญ้า และการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์
• การนำ Corporate Sustainability Handprint (CSH) มาใช้ใน GIZ ประเทศไทย ซึ่ง CSH เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสำนักงานใหญ่ของ GIZ ซึ่งมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมได้แก่ ความมีประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมทางการเมือง และความสมดุลของระบบนิเวศ
• การจดทะเบียนสำนักงานสาขา ซึ่งช่วยให้ GIZ ได้ดำเนินโครงการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล
นอกเหนือจากความสำเร็จดังกล่าวแล้ว มร.เฮลมิงยังมีคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่น่าจดจำอย่างนโยบายเปิดประตู ที่เปรียบเสมือนช่องทางรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน และแนะแนววิธีการแก้ปัญหาโดยมุ่งผลสัมฤทธ์ให้กับทีม GIZ มร.เฮลมิงมักเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาบุคลากรทั้งใน GIZ เอง และในองค์กรหุ้นส่วนความร่วมมือ การสนับสนุนการใช้นวัตกรรม และการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงาน เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตลอดจนการสร้างความปลอดภัยของพนักงาน
ความมุมานะของมร.เฮลมิงได้มีส่วนช่วยให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเจริญก้าวหน้าของ GIZ ทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะถูกต่อยอดไปยังมร. ทิม มาเลอร์ ผู้ดำรงแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
กาญจนา งามกาหลง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร
Email:kanjana.ngamkalong(at)giz.de