การยกระดับคุณภาพแรงงานของอาเซียนผ่านการสอนงานในสถานประกอบการที่มีคุณภาพ

ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมและสังคม เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญ 60 คนจาก 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการสนับสนุนจาก GIZ ได้ร่วมกันพัฒนามาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการเมื่อปี พ.ศ. 2558 “มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับภูมิภาคอาเซียน” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา และการฝึกอบรม (TVET) และการพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ และเพื่อเพิ่มคุณภาพการสอนงานในสถานประกอบการ
เพื่อให้มั่นใจว่าครูฝึกจะสามารถจัดการสอนงานในสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกประเทศของภูมิภาค ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการสอนงานในแต่ละประเทศ และดำเนินการจัดฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ คุณวุฒิของวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาค ซึ่งสามารถจัดการฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการในประเทศของตนได้ตามมาตรฐานและหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานดังกล่าว
โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมคุณภาพของอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดแรงงานได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาคเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ การฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 – 3 ได้ถูกจัดขึ้นที่นครเวียงจันทน์ (สปป. ลาว) มะนิลา (ฟิลิปปินส์) และจังหวัดดองไน (เวียดนาม) โดยได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากโครงการความร่วมมือทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการอาชีวศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ GIZ หลายโครงการ และองค์กรพันธมิตรต่างๆ
การฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาคครั้งที่ 4 ได้จัดขึ้นโดยความร่วมมือจาก HRD Korea ณ สถาบันระดับโลกเพื่อถ่ายทอดทักษะฝีมือ (GIFTS) ที่เมืองอินชอนระหว่างวันที่ 7-25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับการฝึกอบรมก่อนหน้า การฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาคดำเนินการตามหลักเกณฑ์ หลักสูตร และแนวทางการฝึกอบรมภายใต้มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการสำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยใช้แนวทางการฝึกอบรมที่เน้นการปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิควิธีการฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม การฝึกอบรมยังมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้เทคนิคการฝึกอบรมในบริบทต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าวิทยากรต้นแบบระดับภูมิภาคจะสามารถจัดการฝึกอบรมด้วยตนเองตามความต้องการเฉพาะของผู้เข้ารับการฝึกอบรมในประเทศของตนได้
สิ่งที่ทำให้การฝึกอบรมนี้มีลักษณะเฉพาะ คือ ความหลากหลายของกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ (กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) และวิทยากรผู้ฝึกอบรมจากประเทศเยอรมนีและเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้การฝึกอบรมมีคุณค่าไม่เพียงในแง่ของข้อมูล และความรู้ที่ให้ระหว่างการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมอีกด้วย
“ผมถือว่าเป็นเวลา 20 วันที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะเราได้รับประโยชน์จากความหลากหลาย เราได้ทำกิจกรรมที่สนุกสนาน สร้างความเข้าใจ และได้ทำงานและร่วมมือกัน” นายกาเบรียล ดี โอเร็นเดน ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากประเทศฟิลิปปินส์กล่าว
GALLERY
Ms. Franziska Seel
Programme Component Manager
Email:franziska.seel(at)giz.de