เสริมศักยภาพธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก สำหรับการเปิดรับข้อเสนอกองทุน ThaiCI ครั้งแรก
- กองทุน ThaiCI และกองทุนสิ่งแวดล้อม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กในการพัฒนาข้อเสนอแนวคิดโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก
- ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ทักษะที่สำคัญในการออกแบบและวางแผนโครงการ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 10
ภาคธุรกิจโรงแรมถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกัน ภาคส่วนนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงเนื่องจากการใช้พลังงานและการผลิตของเสีย จากรายงานด้านความยั่งยืนภาคโรงแรมของคอร์แนล (Cornell Hotel Sustainability) ที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเข้าพักของลูกค้า 1 ห้องของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.064 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสูงกว่าโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มีค่าเฉลี่ย 0.057 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 0.019 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แม้ว่าจะมีโรงแรมจำนวนมากที่ให้ความสนใจแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ แต่หลายโรงแรมยังขาดระบบที่เหมาะสมในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีโรงแรมไม่ถึงร้อยละ 4 โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ได้มีการเตรียมพร้อมรับแนวโน้มการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อจูงใจและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กในการขับเคลื่อนการลงทุนคาร์บอนต่ำ กองทุน Thai Climate Initiative (ThaiCI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) และดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 เพื่อให้คำแนะนำธุรกิจโรงแรมฯ ในการพัฒนาแนวคิดโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับข้อเสนอภายใต้กองทุน ThaiCI ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการลงทุนคาร์บอนต่ำในภาคโรงแรม
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวน 40 คน โดยเน้นการเสริมสร้างทักษะในการพัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมให้คำแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ เช่น กรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework) การกำหนดตัวชี้วัดตามหลักการ SMART และเกณฑ์การประเมินผลโครงการตามมาตรฐานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ผ่านการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้วิธีการจัดทำข้อเสนอโครงการที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกองทุน ThaiCI รวมถึงสอดรับกับมาตรฐานสากล
การอบรมยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันบทเรียนที่ได้รับ และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเชิงลึกในเชิงเทคนิคต่าง ๆ เช่น การพัฒนาข้อมูลกรณีฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน
แม้เป้าหมายหลักของการอบรมคือการเสริมความแข็งแกร่งให้กับข้อเสนอสำหรับกองทุน ThaiCI แต่ผลของการอบรมนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปมากกว่านั้น ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะซึ่งจะช่วยในการสำรวจโอกาสรับทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอื่น ๆ เพิ่มเติม มากไปกว่านั้น ทักษะที่ได้รับยังสามารถถ่ายทอดไปยังเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในองค์กรในระยะยาว
เกี่ยวกับ ThaiCI
กลุ่มงาน ThaICI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TGC EMC ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2569 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกองทุน ThaiCI ภายใต้การดำเนินการของกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการเปิดรับข้อเสนอโครงการ และเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาและบริหารโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณอภิรุจี จตุรทิตย์
เจ้าหน้าที่โครงการ ThaiCI
อีเมล: apirujee.chaturathit(at)giz.de