โครงการ Empower เปิดหลักสูตรวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย NDC ของไทย
(จากซ้าย) คุณจินดารัตน์ เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) คุณธวัชชัย แสงคำสุข ผู้จัดการโครงการ EMPOWER จาก GIZ ประจำประเทศไทย คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBIS)
9 ธันวาคม พ.ศ. 2567 – โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Empowering Thailand’s Department of Climate Change and Environment: EMPOWER) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีเปิดหลักสูตรการวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation and Planning: CCMP) พร้อมจัดการเรียนการสอนครั้งที่ 1 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยได้รับเกียรติจาก คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คุณธวัชชัย แสงคำสุข ผู้จัดการโครงการ EMPOWER จาก GIZ ประจำประเทศไทย และ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBIS) และผู้บริหารหลักสูตร CCMP เข้าร่วมงาน
คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCMP)
โครงการ Empower เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และทักษะที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคลากรของ สส. ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการกำหนด ติดตาม และประเมินผลมาตรการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้อง โครงการ Empower ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โดยแผนการดำเนินงานของโครงการฯ แบ่งเป็นสองระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2568 จะจัดฝึกอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตรให้แก่บุคลากรของ สส. ในระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2568 จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2569 โดยจะจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรจาก สส. และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.)
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBIS) และผู้บริหารหลักสูตร CCMP อธิบายโครงสร้างหลักสูตรและความเชื่อมโยงกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Management)
หลักสูตร CCMP เป็นหลักสูตรแรกภายใต้โครงการ Empower โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 100 คน เนื้อหาของหลักสูตรมุ่งเน้นการปูความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความพร้อมสำหรับการดำเนินงานตามภารกิจของกรมฯ และการเรียนรู้เชิงเทคนิคมากขึ้นในหลักสูตรถัดไป
หัวข้อการฝึกอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- วิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา รองผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน
- แนวทางการใช้เทคโนโลยีและภาพรวมยุทธศาสตร์ โดย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล อดีตคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยออยล์ จำกัด
- เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกและประเทศไทย โดยคุณธวัชชัย แสงคำสุข ผู้จัดการโครงการ Empower โดย GIZ ประจำประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ และเทคโนโลยีเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจัดโดย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้บริหารหลักสูตร CCMP
หลักสูตร CCMP จะมีการเรียนการสอนทั้งหมด 11 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในภารกิจงานของ สส. ซึ่งหลังจากนี้ โครงการฯ จะนำเสนอหลักสูตรถัดไปที่มีความเข้มข้นขึ้น โดยเน้นทักษะเชิงเทคนิคด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรของ สส. เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักด้านมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)