สรุปผล COP29: นโยบายที่เน้นการขับเคลื่อนเสริมพลังไทยในการรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพฯ, 4 ธันวาคม 2567 – หลังการเจรจาสภาพภูมิอากาศระดับโลกในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP29) ที่เมืองบากู อาเซอร์ไบจาน กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดการประชุมสรุปผลที่ได้จากงานประชุม ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีหน่วยงานราชการ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม ได้มาร่วมการประชุมนี้เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ของ COP29 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยและประเทศอื่นๆ
ใน COP29 ทั้ง 197 ประเทศและสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันหารือและมีความก้าวหน้าที่สำคัญทางด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ กลไกตลาดคาร์บอน กรอบการทำงานด้านความความโปร่งใส (Transparency frameworks) และมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์เหล่านี้ยังสะท้อนถึงการประนีประนอมที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายใหม่ทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ และยังมีประเด็นสำคัญบางประการที่ยังไม่ได้ข้อยุติจนกว่าจะมีการเจรจาในการประชุมครั้งต่อไป
เส้นทางของประเทศไทย: ความท้าทายและโอกาสจาก COP29
ไฮไลต์ของงานเริ่มต้นด้วยการสรุปผลการประชุม COP29 โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้นำเสนอผลการประชุม COP29 และก้าวต่อไปของประเทศไทยสำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้า NDC2035 และเวทีเสวนา “เส้นทางจาก COP29 สู่ประเทศไทย” ซึ่งดำเนินการโดยกิตติ สิงหาปัด โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่ได้หารือกันดังต่อไปนี้:
- เป้าหมายทางการเงินใหม่เพื่อสภาพภูมิอากาศ (NCQG): เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นสามเท่า จนได้ชื่อว่า “COP ด้านการเงิน” โดยคุณกฤตยา ชุณหวิริยะกุล ตัวแทนจากกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ สส. ได้กล่าวถึงข้อตัดสินใจที่เป็นสำคัญใน COP29 ในการเพิ่มเพดานเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินประจำปีให้กับประเทศกำลังพัฒนาเป็นสามเท่า จาก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) เป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2578 และเป้าที่จะปลดล็อคการระดมทุนจากภาครัฐและเอกชน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 42 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี พ.ศ. 2578 ถึงแม้จะห่างจากเป้าหมายที่ได้ตั้งเป้าไว้ตอนแรกอย่างมาก แต่ยังถือเป็นข้อตกลงที่สำคัญของการประชุม COP ในครั้งนี้ และการสนับสนุนนี้จะมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงโอกาสในการเข้าถึงกลไกการเงินของประเทศไทยและความท้าทายทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศใหม่
- ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article 6) โดย ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ตัวแทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงการทำข้อตกลงที่เสร็จสมบูรณ์ด้านการดำเนินการกลไกการซื้อขายคาร์บอนภายใต้กลไกข้อ 6 (Full Operationalisation of Article 6) รวมถึงกรอบการอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างรัฐภาคี (ข้อ 6.2) และการจัดตั้งทะเบียนเพื่อติดตามการซื้อขายเหล่านี้ กลไกตลาดคาร์บอนกลาง (ข้อ 6.4) ได้รับข้อสรุปอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการริเริ่มการเสริมสร้างความสามารถเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในตลาดเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กรอบความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส (Transparency Framework) โดยคุณศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก สส. ได้กล่าวถึงกลไกความโปร่งใสที่ก้าวหน้ามากขึ้นและอัปเดตความก้าวหน้าของประเทศไทยที่มีแผนจะจัดทำการรับฟังความคิดเห็น และส่งรายงานความโปร่งใสทวิภาคี (BTRs) ภายในปี พ.ศ. 2567 นอกจากนี้การประชุม COP29 ยังนำไปสู่การพิจารณาการสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ทางการเงินและเทคนิค และการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีอยู่แล้วสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการดำเนินการตามกรอบความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น โดยในด้านการพัฒนาระบบการรายงานของประเทศไทย ทางกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังมีความร่วมมือกับนานาประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ผ่านการสนับสนุนทางด้านผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการรายงานที่ดีขึ้น
- การสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ตัวแทนจากกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) ที่ได้มีข้อตัดสินใจในการประชุม COP29 ทำให้ได้เริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ และมีวงเงินรวมในปัจจุบันกว่า 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,820 ล้านบาท) และความท้าทายในการเข้าถึงกองทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและการจัดทำแผนระดมเงินของกองทุนในระยะยาว
ประเทศไทย ภายใต้การนำของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กำลังวางรากฐานสำหรับแผนที่นำทางของการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบูรณาการพันธสัญญาระดับโลกเข้ากับความต้องการในระดับท้องถิ่น โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงและนำพาวิสัยทัศน์นี้ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุและสอดคล้องกับความพยายามระหว่างประเทศ ขณะที่ผู้คนทั่วโลกกำลังจับตาการประชุม COP30 เส้นทางของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความมุ่งมั่น ความร่วมมือ และการลงมือปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการ CCMB: โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง – Thai-German Cooperation