ตามสถิติในปี พ.ศ. 2560 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) การลักลอบปลูกต้นโคคาที่ผิดกฎหมายในประเทศโคลอมเบียนั้นสูงถึง 171,000 เฮคเตอร์ (เทียบเท่า 1,068,750 ไร่) ดังนั้นรัฐบาลโคลอมเบียจึงใช้ความพยายามอย่างสูงในการเร่งแก้ปัญหากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกพืชเสพติดดังกล่าว และเกือบ 30 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยก็ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน โดยมีการปลูกฝิ่นผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย
วันนี้แนวทางการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นที่ยั่งยืนของไทย ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชยาเสพติด ที่ส่งผลให้การปลูกฝิ่นในประเทศไทยลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ โดยพื้นที่ป่าได้รับการปกป้องและฟื้นฟูโดยชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรที่เคยปลูกฝิ่นมีโอกาสเข้าถึงการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีศึกษาของโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งพัฒนาพื้นที่ปลูกฝิ่นเดิมจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีโครงการพัฒนาที่เป็นแบบอย่างการเรียนรู้ที่มีคุณค่าสำหรับรัฐบาลที่เผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกัน
นอกจากนี้ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านนโยบายยาเสพติดและการพัฒนา ในนามของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทางเลือกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2561 เพื่อให้ประเทศที่ประสบปัญหาการปลูกพืชเสพติด เช่น ประเทศโคลอมเบียได้เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาทางเลือกของไทย คณะเจ้าหน้าที่จากประเทศโคลอมเบียตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงไปจนถึงตัวแทนชุมชนทั้งสามกลุ่มเข้าร่วมการศึกษาดูงานที่โครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อหารือเกี่ยวกับการจำลองแบบโครงการพัฒนาในไทย สำหรับไปปรับใช้ในประเทศของตน ผลลัพธ์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเยอรมนี ไทย และโคลอมเบียนี้ ได้มีการนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือก