เบรียเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ริเริ่มโดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BMZ) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และปรับปรุงความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีพันธมิตรเอกชน ได้แก่ บริษัท ไบเออร์ บีเอเอสเอฟ โอแลม ยารา ดีเอสเอ็ม และภาครัฐ ได้แก่ กรมการข้าวไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรประเทศฟิลิปปินส์ กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย และกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม
ในประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการจัดตั้งศูนย์การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนขึ้น 375 แห่งในสองจังหวัด คือ จาวาตะวันออก และสุมาตราเหนือ โครงการมีผู้ประสานงานภาคสนามจำนวน 125 รายที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน และผู้ประสานงานแต่ละคนรับผิดชอบศูนย์สามแห่ง โดยได้จัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกรภาคสนาม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวที่ได้รับการพิสูจน์ให้กับเกษตรกรผู้นำ ซึ่งคาดว่าจะมีการถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น นอกจากนี้ โครงการยังได้ช่วยแก้ไขปัญหาทางโภชนาการในประเทศโดยการเสริมสร้างข้าวด้วยจุลธาตุอาหาร
ในประเทศฟิลิปปินส์ เบรียได้สนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่จะสามารถผลิตข้าวในประเทศเพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และยังสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่น (LGUs) และกลไกการส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงาน ผ่านการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรผู้แนะนำด้านเทคนิคในจังหวัดอิโลอิโล เลย์เตใต้ และออโรรา ซึ่งจะให้บริการกับเกษตรกรในท้องที่อีกกว่า 8,000 ราย ตลอดจนมีคู่มือฝึกอบรมของเบรีย ประกอบด้วย 17 เรื่อง ซึ่งจะถูกรวบรวมเป็นผลงานด้านความรู้เพื่อมอบให้กับกระทรวงเกษตรต่อไป
ในประเทศเวียดนาม เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มผลผลิตข้าวในลักษณะที่เป็นมิตรต่อนิเวศวิทยาและปรับปรุงการเข้าถึงตลาดที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ โครงการยังได้ร่วมกับสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมและชนบท (IPSARD) และภาคเอกชน ในการริเริ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อการปลูกข้าวในนาแปลงใหญ่ขึ้นบนพื้นที่สามจังหวัดคือดองทับ เฮาเซียง และเคียนเซียง เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ของเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ สหกรณ์ทางการเกษตร กลุ่มเกษตรกร พ่อค้าข้าว โรงสีข้าว และผู้บริการวัตถุดิบ
ในประเทศไทย เกษตรกรได้รับการอบรมเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการทำการเกษตร (GAP) และมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) ซึ่งครอบคลุมศูนย์ข้าว 200 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เกษตรกรที่ได้รับการฝึกอบรม จะมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้ที่ได้รับกับเกษตรกรเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ ซึ่งช่วยส่งเสริมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย การจัดการดิน เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการผลิตข้าวที่ยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเกษตรกรลดความสูญเสีย และปรับปรุงคุณภาพ
“หลังจากเข้าร่วมโครงการอบรมมาตรฐาน SRP แล้ว ฉันใช้ความรู้ที่ได้รับจากเบรียและผู้เชี่ยวชาญของกรมการข้าวในระหว่างการฝึกอบรมไปประยุกต์กับนาข้าวของฉันและสังเกตเห็นความแตกต่าง ก่อนหน้านี้ฉันประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตและการระบาดของโรคและขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม หลังจากเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว ตอนนี้สามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยการทดสอบดิน ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น ฉันสามารถขายข้าวของฉันไปยังโรงสีได้ในราคาที่สูงกว่าเกษตรกรรายอื่นๆ ในอนาคตฉันคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ SRP และยินดีที่จะชักชวนให้ชาวนาคนอื่นเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย” นางลำไพ นางาม สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี กล่าว
อาจกล่าวได้ว่า โครงการเบรีย ได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากกว่า 20,000 รายใน 4 ประเทศ ข้อเสนอแนะด้านการผลิตของโครงการให้ประโยชน์กับเกษตรกรที่เข้าร่วมและเพิ่มรายได้ถึงร้อยละ 10-25 ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวรายใหญ่เหล่านี้
“ในปีพ.ศ. 2559 ประเทศอินโดนีเซียได้หยุดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เนื่องจากเบรียมุ่งผลักดันที่จะพัฒนาวิถีชีวิตของเกษตรกรเอง เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เบรียส่งเสริมสามารถเพิ่มผลผลิตการเก็บเกี่ยวได้ถึงร้อยละ 40 และลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 20 ซึ่งคาดว่าในปีพ.ศ. 2560 ประเทศจะสามารถเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งออกข้าวได้” นางศรี คุนตาร์สีฮ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและประกันภัยพืชผล กรมโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย กล่าว