โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสจัดกิจกรรมให้ความรู้เกษตรกร ณ ศูนย์รับซื้อกาแฟที่ชุมพรและระนอง

- โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสประเทศไทย โดย GIZ และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จัดกิจกรรมให้ความรู้กับเกษตรกรที่มาขายกาแฟที่ศูนย์รับซื้อกาแฟสวี จังหวัดชุมพร และศูนย์รับซื้อกาแฟกระบุรี จังหวัดระนอง
- กิจกรรมนี้เน้นให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงสาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการปลูกกาแฟโรบัสตา
- โครงการฯ ได้สาธิตการทดสอบความคงตัวของเม็ดดินและสาธิตแบบจำลองน้ำฝน เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการบำรุงดิน
ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นช่วงเวลาทองของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตาในจังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียง เพราะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวและซื้อขายผลผลิตเมล็ดกาแฟ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตา เนื่องจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีล่าสุดคือช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 ถึงต้นปี พ.ศ. 2567 พบว่าเมล็ดกาแฟสุกช้า จากที่เคยเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน แต่กลับล่าช้าเป็นปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ทำให้ผลผลิตลดลง และส่งผลให้ราคารับซื้อกาแฟสูงกว่าปีก่อน ๆ

การสาธิตการทดสอบความคงตัวของเม็ดดิน
โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสประเทศไทย โดย GIZ และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเกษตรกรที่มาขายกาแฟที่ศูนย์รับซื้อกาแฟสวี จังหวัดชุมพร และศูนย์รับซื้อกาแฟกระบุรี จังหวัดระนอง ระหว่างเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงสาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการปลูกกาแฟโรบัสตา
โครงการฯ ได้สาธิตการทดสอบความคงตัวของเม็ดดิน เพื่อให้เกษตรกรเห็นความคงทนและการเกาะยึดของเม็ดดิน และเห็นความแตกต่างระหว่างดินที่มีสุขภาพดีกับดินทั่วไปที่มีอินทรียวัตถุต่ำ นอกจากนี้ยังได้สาธิตแบบจำลองน้ำฝน ซึ่งเป็นการสาธิตการซึมของน้ำผ่านดินที่มีความคงตัวของเม็ดดินต่างกัน เพื่อดูความแตกต่างของความคงตัวของเม็ดดิน

การสาธิตแบบจำลองน้ำฝน
การสาธิตทั้งสองแบบเน้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการบำรุงดิน เพราะเมื่อมีการชะล้างของฝน การพังทลายของหน้าดินก็จะมีความแตกต่างกันตามคุณภาพของดิน เช่น หากคุณภาพของดินดี การยึดเกาะของเม็ดดินที่แน่นจะช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดิน ดินคือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกพืชทุกชนิด รวมทั้งการเจริญเติบโตและผลผลิตของต้นกาแฟ นอกจากนี้ดินยังเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของหลักสูตรการฝึกอบรมเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูที่โครงการฯ เตรียมจัดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดใกล้เคียงในปี พ.ศ. 2567-2568 โดยได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจแนวปฏิบัติของเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่แล้วในแปลงกาแฟ และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกษตรกรสนใจศึกษาเรียนรู้ หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม

กิจกรรมการอบรม ณ ศูนย์รับซื้อกาแฟ
เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูเป็นการทำเกษตรองค์รวมแบบยั่งยืนที่มุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกและระบบนิเวศ ซึ่งเอื้อประโยชน์ที่หลากหลายต่อเกษตรกร สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์และธาตุอาหารในดิน ในขณะเดียวกันก็ช่วยตรึงคาร์บอนและชีวมวลรูปแบบต่าง ๆ ไว้ในดินซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูยังช่วยให้ระบบการผลิตมีความทนทานต่อผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ศัตรูพืชหรือโรคพืชมากขี้น และลดการพึ่งพาสารเคมีอันตรายได้ ดังนั้นเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูจะช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวสําหรับพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เช่น ความผันผวนของตลาด นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มราคาปัจจัยการผลิตซึ่งจะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรในระยะยาว
คุณพจมาน วงษ์สง่า
ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย
อีเมล: pouchamarn.wongsanga(at)giz.de