อุดรธานีวางแผนเมืองเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
เมืองอุดรธานีกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ
อุดรธานี เมืองเศรษฐกิจหลักของภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางการขนส่งของทั้งภาคอีสานและภาคอีสานตอนบน อย่างไรก็ตาม เมืองอุดรธานีเคยประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2544-2545 และปีพ.ศ. 2552 และ 2554 นอกจากนี้ ยังเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งในเขตเมืองและบริเวณที่ลุ่มด้านเหนือของเมืองอุดรธานี ข้อมูลประวัติศาสตร์และการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนแสดงให้เห็นถึงจำนวนวันที่ฝนตก แต่ความรุนแรงของฝนก็มีเพิ่มขึ้น ตัวแปรสภาพภูมิอากาศและที่ไม่ใช่สภาพภูมิอากาศ ทำให้อุดรธานีอยู่ภายใต้ความกดดันในเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบ เช่น น้ำท่วมในตัวเมือง ฝนทิ้งช่วง และการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขื่อนห้วยหลวงที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการบริโภคในตัวเมืองและเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และในบางครั้ง ก็เกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มผู้ใช้น้ำ
จากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการการใช้น้ำก็มากขึ้นตามมาด้วย ประกอบกับความกดดันทางสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การให้บริการในเขตเมือง เช่น การประปา และการจัดการน้ำเสียมีความเสี่ยงในสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงสูงสุด และการพัฒนาเมืองสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของการให้บริการด้านการประปาและการกำจัดของเสียไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองอุดรธานีกิจกรรมและความต้องการทางเศรษฐกิจที่เพิ่มของเมืองในอนาคตได้
แก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร : การทำงานร่วมกับท้องถิ่น
เพื่อรับมือกับสภาพปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงได้มีการเสนอการบูรณาการแนวคิดเรื่อง “การวางแผนพลวัตของเมืองและพลวัตภิบาล” เข้าสู่นโยบายและการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติการจัดการความเสี่ยง (Risk-NAP) ซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-START Regional Center) จึงได้จัดการประชุมเพื่อบูรณาการข้อเสนอการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่และการออกแบบสถาบันที่สามารถปรับเปลี่ยนได้และตอบสนองต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี
ในการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 80 คนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เช่น กรมโยธาธิการและผังเมืองในระดับส่วนกลาง สำนักงานจังหวัดอุดรธานี หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและการบริหารจัดการน้ำ ผู้แทนจากชุมชน เทศบาล หอการค้าและนักพัฒนา กลุ่มคนทำงานวิจัย เครือข่ายต่างๆ ด้านการพัฒนาเมือง สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และผู้แทนจากจังหวัดใกล้เคียง ผู้เข้าร่วมจากเทศบาลและชุมชนในจังหวัดอุดรธานีมีความกระตือรือร้นในการนำเสนอความคิดเห็นจากพื้นที่ การอภิปรายในการประชุมนี้สร้างแรงบันดาลใจให้จังหวัดอื่นๆ เกิดการริเริ่มในการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมว่า “ผมขอขอบคุณที่เลือกจังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาเรื่องนี้ จังหวัดของเราได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ จังหวัดของเราไม่ใช่แค่เพียงกำลังประสบปัญหาน้ำท่วม แต่น้ำท่วมทำให้ปัญหาเรื่องการจัดการของเสียในเมืองแย่ลงอีกด้วย”
การแก้ปัญหา: ผังพลวัต และการออกแบบสถาบันเพื่อขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า “จังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว จังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ซึ่งมีความน่าสนใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องพลวัตของเมืองและการส่งเสริมเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวคิดเรื่องสถาบันที่สามารถปรับตัวได้ และการวางแผนการใช้พื้นที่”
มร. ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวเสริมว่า “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นรุนแรงมาก ไม่เฉพาะแค่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังเกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลก งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางด้านวิชาการ แต่ยังเป็นการช่วยให้รัฐบาลและภาคธุรกิจเกิดการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยท้องถิ่นที่มีบริบทเฉพาะ”
ผศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
- ย้ายโรงบำบัดน้ำเสียไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม
- การบริหารจัดการน้ำฝนแบบครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มขึ้น
- สร้างโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ที่เชื่อมกับแหล่งน้ำและการเข้าถึงแหล่งน้ำได้ดีขึ้น
- ปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำหรือสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับเมืองแหล่งใหม่สำหรับพื้นที่ในเขตเมือง
- ควรมีการวางและจัดทำ “ผังพลวัต” ในระบบผังเมืองไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย
นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ข้อเสนอทางกฎหมาย และข้อเสนอด้านองค์กรไปปฏิบัติและการวางแผนพลวัต ดังนี้
- ควรพัฒนากลไกแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ข้อมูลที่มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ
- ควรจัดตั้งองค์กรผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผสานแนวคิดการวางแผนพื้นที่เข้าสู่กฎหมายการวางผังเมือง เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ
- ควรสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดในกระบวนการพิจารณาเห็นชอบผังเมือง เนื่องจากเหตุผลด้านความคล่องตัว ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายและสถาบันที่ปรับตัวได้
ก้าวต่อไป : การขยายแนวคิดไปสู่การพัฒนาเมืองอื่นๆ
ในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่สร้างความตระหนัก ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในเรื่องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะได้เห็นภาพฉายอนาคตของเมืองในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การประชุมยังช่วยกระตุ้นความคิดเชิงยุทธศาสตร์ของผู้วางนโยบายหรือนักพัฒนาในจังหวัดอื่นๆ ในการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งด้านสภาพภูมิอากาศและที่ไม่ใช่สภาพภูมิอากาศ โดยการบูรณาการแนวคิดความพลวัตของเมืองเข้าไปสู่ยุทธศาสตร์จังหวัดและเป้าหมายการพัฒนาเมืองในอนาคต