CCMB จัดการศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย ส่งเสริมไทยให้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

30 กันยายน พ.ศ. 2567 – วันที่ 21-29 กันยายน พ.ศ. 2567 โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้จัดการศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย สำหรับผู้กำหนดนโยบายจากหลากหลายหน่วยงานของไทย ซึ่งประกอบไปด้วย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กรมการท่องเที่ยว กรมอุตุนิยมวิทยา และผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คณะผู้แทนได้เดินทางไปเยือนรัฐควีนส์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการแก้ปัญหา และแนวทางการปฏิบัติงานที่ดีที่สุดด้านการบริหารจัดการชายฝั่งอย่างยั่งยืน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solution – NbS) ประเทศออสเตรเลียได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางเนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในด้านสภาพอากาศ ความท้าทายด้านชายฝั่ง และการพึ่งพาการท่องเที่ยวในการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

คณะผู้แทนไทยพูดคุยถึงปัญหาและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไข กับตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากโครงการระบบเบี่ยงทางทรายแม่น้ำทวีด
หนึ่งในไฮไลต์ของการเดินทางคือการเยี่ยมชมระบบเบี่ยงทางทรายแม่น้ำทวีด (Tweed River Sand Bypass) ซึ่งแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผู้เข้าร่วมร่วมสังเกตการณ์ว่าระบบนี้ช่วยลดการกัดเซาะและบรรเทาผลกระทบของทรายที่เข้าสู่ทางน้ำ ลดความจำเป็นในการขุดลอก ซึ่งสอดคล้องกับความท้าทายด้านชายฝั่งของประเทศไทยที่มักจะเกิดการทับถมทำให้ทางน้ำตื้นจนต้องขุดลอกบ่อยขึ้น
นอกจากนี้ คณะผู้แทนยังได้สำรวจวิธีการ NbS ในอ่าวมอร์ตัน (Moreton Bay) ที่ปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันชายฝั่งไม่ให้ถูกน้ำกัดเซาะ ในชายฝั่งซันไชน์ (Sunshine Coast) คณะผู้แทนได้เรียนรู้จากโครงการบลูฮาร์ต (Blue Heart) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแผนโครงการที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำและการจัดการน้ำท่วม รวมถึงการพัฒนาให้เป็นพื้นที่นันทนาการและการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงข้อมูลและการคาดการณ์ภูมิอากาศในการวางแผน โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูที่ดินหลังทำการเกษตรแบบเข้มข้นสามารถส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสนับสนุนกิจกรรมนันทนาการได้

คณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS) ที่อ่าวมอร์ตัน

ผู้แทนจากโครงการบลูฮาร์ตอธิบายวิธีการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำด้วยข้อมูลภูมิอากาศและการฟื้นฟูตามธรรมชาติ
ที่เมืองทาวน์สวิลล์ ผู้แทนไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลียและหน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ โดยการแลกเปลี่ยนเน้นไปที่การแบ่งเขตและการจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาแผนการวางผังพื้นที่ทางทะเล

ผู้แทนจากหน่วยงานอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ อธิบายการจัดการและกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ผู้แทนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล
ประเด็นสำคัญที่ผู้แทนไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือความสำคัญของการบูรณาการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับกระบวนการตัดสินใจที่อ้างอิงหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยระบบการอ้างอิงหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลออสเตรเลียได้ถูกหยิบยกให้เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาดูงานยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการประสานแนวทางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าด้วยกัน รวมถึงประโยชน์ของการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวชายฝั่ง การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้แทนไทยจากหลายหลายหน่วยงานระหว่างการศึกษาดูงานได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ในช่วงท้ายของการศึกษาดูงานได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนโดยคณะผู้แทนได้นำเสนอแนวคิดการทำโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายโดยใช้แนวคิดและองค์ความรู้จากการศึกษาดูงาน


คณะผู้แทนได้นำเสนอแนวคิดการทำโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายโดยใช้แนวคิดและองค์ความรู้จากการศึกษาดูงาน ในการประชุมแลกเปลี่ยน
การศึกษาดูงานที่จัดโดยโครงการ CCMB ในครั้งนี้ได้สร้างโอกาสที่ดีให้กับหน่วยงานของไทยในการแลกเปลี่ยนความสนใจ มองหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นไปได้ และการทำงานร่วมกันในหัวข้อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (NAP) รวมถึงแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (NBSAP) ของประเทศไทย
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติม: https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb/