CCMB จัดประชุมรับฟังความเห็นต่อการเสริมสร้างนโยบายและอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน
ผู้แทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) โครงการ CCMB GIZ ประจำประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ไบรท์ แมเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด
30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 – โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อผลการศึกษาโครงการเสริมสร้างนโยบายและอุตสาหกรรมของประเทศไทยเพื่อตอบสนองต่อกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือแนวทางการทำงานและการปรับยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในภาคอุตสาหกรรมเพื่อตอบรับกับมาตรการ CBAM
สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้กำหนดเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศ “Fit to 55 Target” โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนลดลงอย่างน้อย 55% ภายในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยคาร์บอนในปี พ.ศ. 2533 จึงได้กำหนดมาตรการภายใต้ชื่อ European Green Deal เพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี CBAM เป็นกลไกสำคัญของมาตรการนั้น
CBAM เป็นมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศที่สนับสนุนการทำงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการรั่วไหลของคาร์บอนด้วยการใช้ใบรับรองคาร์บอน (CBAM certificate) และกลไกราคาคาร์บอน ซึ่ง CBAM สอดคล้องกับกฎขององค์กรการค้าโลก (WTO) และจะดำเนินการแบบขั้นบันไดในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปี พ.ศ. 2566-2568 และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป โดย CBAM ได้เริ่มนำร่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนจากสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงจากอุตสาหกรรม 6 ประเภทแรก คือ 1) ซีเมนต์ 2) พลังงานไฟฟ้า 3) ปุ๋ย 4) ไฮโดรเจน 5) เหล็กและเหล็กกล้า 6) อะลูมิเนียม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยงานเชิงนโยบายในประเทศไทยของโครงการนี้จะนำร่องการเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบสูงที่สุดจาก 6 ประเภท พร้อมการเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรบุคคลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักจากกลไก CBAM
การประชุมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการ CBAM ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อ โครงสร้างเชิงสถาบัน (Institutional Arrangement) และแผนที่นำทาง (Roadmap) การดำเนินงานของประเทศไทย
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดตั้งโครงสร้างเชิงสถาบันที่มีการกำกับหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และการมีแผนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อมาตรการ CBAM
ผู้ร่วมงานให้ข้อเสนอแนะต่อโครงสร้างเชิงสถาบันและแผนที่นำทางเชิงนโยบายของประเทศไทย
การประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ CBAM ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของประเทศไทย มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และมีความพร้อมต่อการบังคับใช้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป โดยข้อเสนอแนะที่ได้รับจะนำมาใช้ในการจัดตั้งโครงสร้างเชิงสถาบันของประเทศไทยเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการ CBAM ของประเทศคู่ค้า รวมถึงแนวทางการปรับปรุงพัฒนาแผนที่นำทางเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อมาตรการ CBAM โดยโครงการ CCMB จะเป็นตัวกลางในการประสานกับ สส. และเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างนโยบาย และการดำเนินงานตามกรอบนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อร่วมกันก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติมได้ที่ https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb/