CCMB ร่วมกับ สคทช. ลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการประเมินและเสนอแนวทางเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน

ลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปากช่องและป่าหมูสี จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 24 – 25 เมษายน พ.ศ. 2568

ลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ที่ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ได้ลงพื้นที่ศึกษาเพื่อสนับสนุนการประเมินและเสนอแนะแนวทางการเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนในพื้นที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รวม 2 จังหวัดเพื่อศึกษารูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและเก็บตัวอย่างดินเพื่อประกอบการประเมินการกักเก็บคาร์บอน หรือ คาร์บอนซิงค์ (Carbon Sink)
คาร์บอนซิงค์ คือแหล่งกักเก็บคาร์บอน ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ออกจากชั้นบรรยากาศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
- คาร์บอนซิงค์ ภาคพื้นดิน (Terrestrial Carbon Sink)
- คาร์บอนซิงค์ ภาคใต้ดิน (Geologic Carbon Sink)
- คาร์บอนซิงค์ ภาคพื้นน้ำ (Oceanic Carbon Sink)
การลงพื้นที่ศึกษาครั้งนี้เน้นที่คาร์บอนซิงค์ ภาคพื้นดินและใต้ดินเป็นหลัก โดยปัจจัยที่จะทำให้พื้นที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ดี ได้แก่การส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเติบโตไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การปลูกป่าทดแทน การปลูกป่าใหม่ และการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม ก็จะช่วยเพิ่มการดักจับคาร์บอนได้
จากปัจจัยดังกล่าว โครงการจึงเลือกพื้นที่ในแต่ละจังหวัดให้มีบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างเกษตรเชิงเดี่ยวและเกษตรแบบผสมผสาน และเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการที่ดินและพื้นที่ คทช. ตลอดจนใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของแต่ละรูปแบบ
โดยพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปากช่องและป่าหมูสี อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และ 2) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสองพื้นที่นี้มีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรจากเดิมที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การปลูกไม้ยืนต้นและพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น กาแฟ และการปลูกพืชแบบผสมผสาน ที่อาจใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนในการพัฒนาพื้นที่ คทช. ได้
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปากช่องและป่าหมูสี จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 24 – 25 เมษายน พ.ศ. 2568 ทีมได้ลงพื้นที่พบปะผู้แทนเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและแมคคาเดเมียแบบประชาอาสาบ้านดงมะไฟ ซึ่งได้เริ่มทำประโยชน์จากพื้นที่โดยดึงเอาชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาร่วม พร้อมเยี่ยมชมแปลงเกษตรในรูปแบบต่างๆ
นอกจากนั้น ได้มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อใช้วิเคราะห์ความหนาแน่นอนุภาคของดินและการประเมินปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน ในพื้นที่เกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- แปลงปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว (มันสำปะหลัง) เป็นตัวแทนของการทำเกษตรแบบพืชไร่เชิงเดี่ยว โดยเกษตรกรจะสลับปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดในแต่ละรอบปี แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกหรือหมุนเวียนพืชอย่างหลากหลาย
- แปลงปลูกไม้ผล (มะม่วง) เป็นตัวแทนของการปลูกพืชสวนหรือไม้ผลเชิงเดี่ยว ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปี
- แปลงปลูกกาแฟผสมผสาน แปลงปลูกกาแฟร่วมกับพืชชนิดอื่นหลายชนิด เช่น แมคคาเดเมีย ลำไย พืชสมุนไพร รวมถึงมีการปลูกไม้ป่าและไม้เศรษฐกิจร่วมด้วย ซึ่งดำเนินการมากว่า 20 ปี
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ได้วางแผนมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรูปแบบการทำเกษตรของพื้นที่ต่อไป
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่
ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ทีมได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลและเกษตรกรในพื้นที่ คทช. ถึงความเป็นมาและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ โดยพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์และระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่ใกล้กับป่าต้นน้ำ เนื่องมาจากความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่มีการทำงานร่วมมือกันเป็นอย่างดีกับการบริหารจัดการส่วน จนก่อให้เกิดเป็นระบบสหกรณ์ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน และนำพากระแสเงินทุนจากภาคเอกชนเข้ามาขยายผลอุตสาหกรรมครัวเรือนเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น
ในการศึกษาครั้งนี้ มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อใช้วิเคราะห์ความหนาแน่นอนุภาคของดินและการประเมินปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน โดยได้มีการเก็บในพื้นที่เกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- แปลงปลูกมะม่วงผสมผสาน มีการปลูกมะม่วงร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น สับปะรด และสมุนไพรต่างๆ ในระหว่างร่องของมะม่วง ซึ่งดำเนินการมาประมาณ 39 ปี
- แปลงปลูกลำไยเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกลำไยเพียงชนิดเดียว
- แปลงปลูกลำไยผสมผสาน มีการปลูกลำไยร่วมกับพืชอื่นๆ เช่น อะโวคาโด ฝรั่ง สับปะรด เป็นต้น ซึ่งดำเนินการมาประมาณ 20 ปี
- แปลงปลูกผักผสมผสาน มีการปลูกผักหลายชนิด ซึ่งดำเนินการมาประมาณ 23 ปี
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญตามวัตถุประสงค์ของโครงการ CCMB โดยทีมที่ปรึกษาได้สำรวจและศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม รวมถึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินและตัวอย่างของดิน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในดิน การเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำข้อเสนอแนะโมเดลการพัฒนาพื้นที่ คทช. เพื่อเสริมสร้างการกักเก็บคาร์บอนและประโยชน์ร่วมอื่นๆ
โมเดลการพัฒนาพื้นที่ คทช. ที่ที่ปรึกษานำเสนอจะยึดรูปแบบการเกษตรยั่งยืนและคาร์บอนต่ำซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโภชนาการ การเกษตร และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของ สคทช. ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากการประเมินและเสนอแนะแนวทางการเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนในพื้นที่ คทช. จะรวมอยู่ในแผนงานการเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนในประเทศไทย (Carbon Sink Roadmap) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contribution 3.0 (NDC 3.0) ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2578 พร้อมเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ได้ 120 ล้านตันฯ ภายในปี พ.ศ. 2580
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติมได้ที่ https://www.thai-german-cooperation.info/th/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb/