โครงการ CASE ศึกษาศักยภาพของประเทศไทย พร้อมดันนโยบายสู่การปลดล็อกการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์
กรุงเทพฯ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 – โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (SGtech) จัดประชุม “Thailand Agrivoltaics Policy Recommendations Validation Forum”
การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) หัวข้อ “นโยบายและกฎระเบียบที่แนะนำในการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Agrivoltaics) ในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประเมินความถูกต้องของข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี Agrivoltaics ระหว่างหน่วยงานภาคเกษตรกรรม ภาคการใช้ที่ดิน ภาคพลังงาน รวมไปถึงภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมและหาแนวทางในการพัฒนานโยบาย กฎระเบียบ และข้อบังคับสำหรับการบูรณาการการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย
คุณซาช่า อ้อปโปว่า (Sascha Oppowa) ผู้อำนวยการโครงการ CASE กล่าวในช่วงเปิดการประชุมว่า “การปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการผลิตพลังงาน การประชุมครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนา Agrivoltaics ในประเทศไทย ช่วยให้ผู้คนเข้าใจกฎระเบียบและนโยบายทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางรายได้ที่หลากหลายให้กับเกษตรกร และสนับสนุนเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ”
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำคัญที่หารือในการประชุม:
- ส่งเสริมการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์จากภาคเกษตรกรรมและพลังงาน โดยมีการอนุญาตและกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับ Agrivoltaics
- สนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงการ Agrivoltaics เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยเพิ่มเงินอุดหนุน เงินจูงใจ และการสนับสนุนด้านการเงิน
- สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ Agrivoltaics ในการทำเกษตรกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนด้านความรู้และการเงินผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private-Partnership: PPP)
- สนับสนุนให้พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีรายได้และผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับดำเนินการ Agrivoltaics
- กำหนดให้ Agrivoltaics เป็นส่วนหนึ่งของแผนชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว
ข้อเสนอเชิงมาตรการและกฎระเบียบ:
- กำหนดมาตรฐานสำหรับการออกแบบ ติดตั้ง การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า การดำเนินการ การดูแลรักษา และความปลอดภัยของ Agrivoltaics
- กำหนดระเบียบและมาตรฐานสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าจากโครงการ Agrivoltaics
- กำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับ Agrivoltaics
- มาตรการสนับสนุนทางการเงิน เช่น อัตราค่าไฟฟ้าซื้อคืน เครดิตภาษี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
- กำหนดแนวทางการตรวจวัด การรายงานและการทวนสอบ (MRV) เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลจากการดำเนินโครงการ Agrivoltaics
- กำหนดให้มีการอบรมและมอบประกาศนียบัตรแก่เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะดำเนินการAgrivoltaics
รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ เกตุจ้อย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ คณะนักวิจัยทำงานโครงการฯ จาก SGtech ให้ข้อมูลว่า การปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ถือเป็นเรื่องใหม่ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการเพาะปลูกและมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะต้องบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG) ภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ตามที่ได้ประกาศไว้ การจัดทำงานศึกษาและประชุมกลุ่มย่อยเพื่อศึกษาศักยภาพในการพัฒนา Agrivoltaics ถือเป็นก้าวแรกในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในระดับนโยบายหากแนวคิดนี้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตร
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้รับการประเมินและรับรองจากที่ประชุมจะนำไปพัฒนากฎหมายและโครงการสนับสนุนการปลูกพืชร่วมกับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยต่อไป โดยคาดว่าจะมีการจัดทำรายงานภายในเดือนสิงหาคมนี้ และเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ในลำดับถัดไป
เกี่ยวกับ โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น ในด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับภูมิภาค ได้แก่ Agora Energiewende และ NewClimate Institute และในระดับท้องถิ่นได้แก่ Institute for Essential Services Reform (IESR) ในอินโดนีเซีย, the Institute for Climate and Sustainable Cities (ICSC) ในฟิลิปปินส์, สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในประเทศไทย
CASE ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงเล่าเรื่องในภาคพลังงานของภูมิภาคไปสู่การเปลี่ยนแปลงพลังงานตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักฐานใหม่ที่อิงกับความเป็นจริงในท้องถิ่น ซึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อผู้จัดการด้านเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคพลังงาน ผู้นำในอุตสาหกรรม และผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเชิงกลยุทธ์ในภาคพลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ โครงการใช้วิธีการค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญและการเจรจาหารือ เพื่อมุ่งไปสู่ฉันทามติโดยการหลอมรวมประเด็นที่มีความเห็นต่าง เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ CASE เพิ่มเติมได้ที่ caseforsea.org
ศิรินุช ระย้า
เจ้าหน้าที่เทคนิคด้านพลังงาน โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
อีเมล: sirinut.raya(at)giz.de