CAP SEA สนับสนุน EcoCrew ทดลองใช้ถ้วยแบบใช้ซ้ำได้ในงานวิ่งมาราธอนที่กรุงเทพ
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2567 โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) สนับสนุน EcoCrew สตาร์ทอัพที่ให้บริการยืมใช้บรรจุภัณฑ์ เพื่อดำเนินการทดลองแนวทางการใช้ซ้ำ (Reuse) ในงานวิ่งมาราธอน ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพมหานคร ด้วยการแจกแก้วน้ำแบบใช้ซ้ำได้ 10,000 ใบ ให้กับนักวิ่งในงาน
ปกติแล้วภาพที่เห็นจนชินตาเมื่อมีงานวิ่งหรือกิจกรรมใหญ่ๆ คือแก้วน้ำพลาสติกที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดบนถนน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โครงการ CAP SEA และ EcoCrew จึงได้นำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืน โดยนักวิ่งจะได้รับน้ำดื่มในแก้วแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถนำกลับไปคืน ณ จุดที่จัดเตรียมไว้ในบริเวณงาน จากนั้นแก้วเหล่านี้จะถูกทำความสะอาดอย่างทั่วถึงตามมาตรฐานสุขอนามัยและนำกลับมาใช้ใหม่ในงานอีเวนต์ต่างๆ โดยแต่ละใบสามารถใช้ซ้ำได้สูงสุดถึง 500 ครั้ง
การนำร่องนี้ตั้งใจนำเสนอการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพและสามารถขยายผลได้ในการลดมลพิษจากขยะพลาสติกในกิจกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการ โดยในภาพรวมโครงการ CAP SEA มุ่งลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วยกลยุทธ์ต้นน้ำที่เน้นการป้องกันและการนำกลับมาใช้ใหม่
[ภาพซ้าย] สถานีเติมน้ำดื่ม [ภาพขวา] แก้วน้ำใช้ซ้ำได้ของ EcoCrew
ที่ปรึกษาของโครงการได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ในกิจกรรมที่จัดโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องว่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติจริง แม้หน่วยงานท้องถิ่นจะส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง
การวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวคิดเป็น 37-45% ของขยะทั้งหมด โดยพบขยะจากแก้วพลาสติกมากที่สุด รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหาร โดยบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มักปะปนกับขยะอินทรีย์ ทำให้การแยกขยะที่มีประสิทธิภาพและการรีไซเคิลคุณภาพสูงนั้นเป็นไปได้ยาก ผู้ขายอาหารและเครื่องดื่มเกือบทุกรายยังใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้เป็นหลัก และแม้ว่าบางอย่างจะสามารถลดปริมาณการใช้ลงได้ เช่น หลอดและถุงพลาสติก แต่ผู้ขายยังคงแจกจ่ายให้กับผู้ซื้อแม้จะไม่ได้ขอ โดยข้อมูลเชิงลึกจากโครงการนำร่องนี้จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางระบบการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ กทม. สามารถจัดงานกิจกรรมที่ยั่งยืนมากขึ้นได้ในอนาคต
“การจัดงานอีเวนต์ในอนาคตควรน่าตื่นเต้นและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดย EcoCrew ต้องการทำให้เห็นว่าการลดขยะไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นการลงมือทำสิ่งที่มีคุณค่า” คุณณัฐพล เชยสุวรรณ ผู้ก่อตั้ง EcoCrew กล่าว
[ภาพซ้าย] แก้วใช้ซ้ำได้กำลังถูกหย่อนคืนที่สถานีรับคืน [ภาพขวา] นักวิ่งมาราธอนดื่มน้ำจากแก้วใช้ซ้ำได้
ในทำนองเดียวกัน คุณกอปร ลิ้มสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาโครงการ CAP SEA ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการนี้ โดยกล่าวว่า “โครงการนำร่องนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ของเราสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และยังช่วยชี้ประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไป การใช้แนวทางแบบบูรณาการเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจศักยภาพของระบบการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเต็ม”
หลังการสรุปผลการปฏิบัติงาน มีข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับการจัดงานกิจกรรมในอนาคต นั่นคือการร่วมวางแผนและดำเนินการจัดงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้นำศักยภาพของระบบการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพทั้งก่อนและระหว่างงานจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับความสะอาดและความสะดวกสบายของแก้วที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
โครงการ CAP SEA เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกที่มีชื่อว่า “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งดำเนินการทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยที่โครงการที่มีความหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ได้ที่ https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/the-collaborative-actions-for-single-use-plastic-prevention-in-southeast-asia-cap-sea-thailand-component/.