Urban-Act บูรณาการเรื่องเพศและความเท่าเทียมในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของเมือง
Urban-Act บูรณาการเรื่องเพศและการมีส่วนร่วมเข้ากับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของเมือง (สแกนเพื่ออ่านกลยุทธ์ฯ ฉบับเต็ม)
- GEDSI ย่อมาจาก Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ), Disability (ความพิการ), และ Social Inclusion (ความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม) เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนร่วมกันอย่างเท่าเทียม
- Urban-Act บูรณาการกลยุทธ์ GEDSI อย่างครอบคลุมในทุกกระบวนการดำเนินงานโครงการ
- การมีส่วนร่วมของทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เปิดตัวกลยุทธ์ความเท่าเทียมทางเพศ ความพิการ และความครอบคลุมทางสังคม (GEDSI) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังในการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
หลักการพื้นฐานของกลยุทธ์ GEDSI ของโครงการ Urban-Act คือการดำเนินโครงการฯ โดยเน้นประเด็นเพศสภาพที่ไม่ิได้จำกัดอยู่แค่เพศหญิง-ชาย แต่รวมถึงความหลายหลายทางอายุ วัฒนธรรม ความพิการ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ อีกด้วย
กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ความเท่าเทียมทางเพศของแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศสากล (IKI) ที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและความรับผิดชอบต่อสังคมของโครงการ ความสามารถในการรับรู้มุมมองด้านเพศ การจัดการความรู้และการสื่อสาร รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ
แนวทางนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียม การกีดกัน และการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเปราะบาง ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสิทธิ โอกาสที่เท่าเทียมกัน และรักษาผลประโยชน์ของผู้คนในกลุ่มนี้
โครงการ Urban-Act ได้ศึกษาและระบุช่องว่างของการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในห้าประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเน้นศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของกลุ่มเปราะบางให้รอบด้านยิ่งขึ้น ครอบคลุมทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรมและบริบทที่เกี่ยวข้องในเขตเมือง พร้อมสนับสนุนให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย
แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเท่าเทียมทางเพศ แต่การดำเนินงานในสองหัวข้อนี้ยังคงแยกส่วนกันอยู่ ซึ่งที่จริงแล้วทั้งสองประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกันและต้องมีการบูรณาการกันตั้งแต่การวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การดำเนินงาน และการบันทึกติดตามผล
เพื่อลดช่องว่างดังกล่าว โครงการ Urban-Act จึงมุ่งมั่นที่จะบูรณาการกลยุทธ์ GEDSI ในทุกกระบวนการทำงาน โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดการดำเนินโครงการฯ และนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ GEDSI ไปในข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวางผังเมืองและการพัฒนาแนวคิดเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งบูรณาการแนวคิด GEDSI เข้ากับมาตรการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างองค์ความรู้อีกด้วย
ประเด็นที่ครอบคลุมของ GEDSI เอื้อให้โครงการ Urban-Act ตระหนักถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อผู้คนในเขตเมืองในมิติที่หลากหลาย พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมและความครอบคลุมในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน
นอกจากนี้ กลยุทธ์ GEDSI ของโครงการ Urban-Act ยังจัดทำรายการมาตรการสำหรับการปฏิบัติงาน (GEDSI Checklist) ซึ่งรวมแนวทางปฏิบัติที่บูรณาการ GEDSI เข้าไปในการจัดการโครงการ การดำเนินงานด้านเทคนิค การพัฒนาขีดความสามารถ การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ กระบวนการบริหาร รวมทั้งการติดตามและประเมินผล
ดร.โนโซมิ คาวาราซึกะ (Dr Nozomi Kawarazuka) นักมนุษยวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ประจำ International Potato Center และผู้ประสานงานด้านเพศสภาพของ CGIAR Asian Mega Deltas Initiative และเอวา ไคล์ (Eva Kail) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงเพศสภาพในยุโรป ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานเปิดตัวกลยุทธ์ GEDSI โดยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องเพศและการทับซ้อนของอัตลักษณ์ (intersectionality) ภายในเมืองที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประสบการณ์การออกแบบเมืองที่คำนึงถึงคนทุกเพศของกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
โครงการ Urban-Act สนับสนุนหน่วยงานร่วมโครงการให้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองยั่งยืนและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำกลยุทธ์ GEDSI เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมและตัดสินใจด้านนโยบายและการออกแบบเมือง รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการมุ่งสู่ความสำเร็จ โดยเป้าหมายสูงสุดของ GEDSI คือการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของผู้พิการ และความครอบคลุมทางสังคม ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในยามที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Urban-Act ที่: https://www.youtube.com/watch?v=qJX38_ijR-w
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยสตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล: heinrich.gudenus(at)giz.de