โครงการการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย หรือ Better Rice Initiative Asia (เบรีย) ซึ่งริเริ่มภายใต้กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าว การเชื่อมโยงตลาด และการปรับปรุงโภชนาการในภาคอาหาร ในประเทศ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ในประเทศไทย โครงการ เบรีย ดำเนินการโดยความร่วมมือกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันธมิตรหลักภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ไบเออร์ เบรีย มีเป้าหมายโดยรวมในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชนบท ผ่านการส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน และการเข้าถึงตลาดที่ดีขึ้น กิจกรรมที่ดำเนินการจะมุ่งเป้าไปที่การช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเพิ่มรายได้ ผ่านการผลิต “ข้าวที่คุณภาพดี” อย่างยั่งยืนต่อนิเวศวิทยา และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าของข้าว โดยการประสานงานกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของ “เกษตรกรปราดเปรื่อง” จากแต่ละศูนย์ข้าวชุมชนที่เลือก (Community Rice Centre หรือ CRC) กิจกรรมการฝึกอบรมมุ่งมั่นที่จะครอบคลุม 200 CRC ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พันธมิตรอื่น ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร, บีเอเอสเอฟ, โอแลม, ธนาคารดอยซ์แบงก์, สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) แห่งประเทศฟิลิปปินส์
ในอินโดนีเซีย มีสององค์ประกอบ คือ การเกษตรและโภชนาการ องค์ประกอบของการเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้และความสามารถของเกษตรกรในการเพาะปลูกข้าวเพื่อที่จะผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น (ผลผลิต) และคุณภาพที่ดีขึ้น (มูลค่า) นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ของเกษตรกร และความมั่นคงด้านอาหาร มีเป้าหมายโดยรวมครอบคลุม ผู้นำเกษตรกร 7,500 คน ซึ่งแต่ละคนจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกคนละ 10 คน สำหรับวัตถุประสงค์โดยรวมขององค์ประกอบทางโภชนาการคือ การเพิ่มภาวะโภชนาการของกลุ่มประชากรที่ยากจนในอินโดนีเซีย
เบรีย เวียดนาม มีการดำเนินโครงการนำร่องความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (PPP หรือ Public-Private Partnership) เพื่อการผลิตข้าว ในจังหวัดดงทับ, เฮา เซียง และ เคียนเซียง ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เบรีย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการเกษตร เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในจังหวัดดังกล่าว ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบการผลิตข้าวที่มีความยืดหยุ่นทางด้านนิเวศวิทยา เพิ่มการเชื่อมโยงตลาด และคุณภาพของข้าว
ในฟิลิปปินส์ เบรีย มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงรายได้ของเกษตรกรรายย่อย ผลผลิตข้าว และความสามารถด้านการแข่งขันของการผลิตข้าว กิจกรรมที่ดำเนินการรวมถึงการสนับสนุนระบบการส่งเสริมการเกษตร การปรับปรุงการเชื่อมโยงการตลาด และการเจรจานโยบาย กิจกรรมของ เบรีย จะดำเนินการใน 13 เขตเทศบาล ในสามจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย อิโลอิโล เลเตใต้ และออโรรา ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนในโครงการ เบรีย ในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับเทศบาล
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการทำการเกษตรข้าว เบรีย ยังได้แนะนำ มาตรฐาน SRP ของเวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Rice Platform มาตรฐาน SRP แสดงถึงความคิดริเริ่มครั้งแรกของโลกที่ส่งเสริมการจัดการการผลิตข้าวที่รับผิดชอบต่อสังคมและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจและสังคมในการรักษาผลผลิตข้าวสำหรับเกษตรกรรายย่อย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูกข้าว และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารและคุณภาพ มาตรฐานประกอบด้วยข้อกำหนด 46 ข้อครอบคลุมประสิทธิภาพด้านการผลิต ความปลอดภัยด้านอาหาร สุขภาพอนามัยและสิทธิแรงงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ เวทีเพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) คือ พันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก ร่วมจัดประชุมโดย UNEP (โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ) และ IRRI พร้อมด้วยผู้มีส่วนได้เสียภาครัฐและเอกชน องค์กรวิจัย สถาบันการเงิน และองค์กรไม่หวังผลกำไร SRP มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้เกษตรกรผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงความเป็นอยู่และรักษาสิ่งแวดล้อม
เบรีย ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาและการยอมรับ มาตรฐาน SRP ในสี่ประเทศที่ดำเนินโครงการ โดยทำการศึกษานำร่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการทดสอบการนำมาตรฐาน SRP ไปปฏิบัติในประเทศต่างๆ เพื่อประเมินความเหมาะสมและการยอมรับมาตรฐานของเกษตรกรของ เบรีย ผลที่ได้จากการศึกษานำร่องในปีนี้จะถูกเก็บรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้ SRP นำไปปรับปรุงมาตรฐานและระบบการรับประกัน เบรีย ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและพันธมิตรภาคเอกชนในกิจกรรมนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า มาตรฐาน SRP และข้อบ่งชี้ประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือวัดที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติในการทำการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและการประเมินการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
ทั้ง เบรีย ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้มีส่วนร่วมในการทดสอบนำร่องมาตรฐาน SRP ในประเทศไทยการทดสอบนำร่องครอบคลุมการประเมินผลของความเหมาะสมในการใช้มาตรฐาน การฝึกอบรมเกษตรกร การจัดทำระบบการจัดการภายใน (Internal Management System) และระบบการประกันกลุ่ม กรมการข้าว เบรีย และ โอแลม ได้ริเริ่มทำการศึกษานำร่อง มาตรฐาน SRP กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ไบเออร์ ซึ่งทั้ง กรมการข้าว โอแลม และ ไบเออร์ต่างเป็นสมาชิกของ SRP ที่ประกอบด้วย 55 องค์กร การทดสอบนำร่องของมาตรฐานในประเทศไทยยังถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมของ เบรีย เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงตลาดสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ยากจนในพื้นที่นี้
ในประเทศอินโดนีเซีย เบรีย จะดำเนินการสำรวจเพื่อประเมินการปฏิบัติของเกษตรกรของ เบรีย ตามข้อกำหนดของมาตรฐาน SRP ผลของการทดสอบนำร่องจะนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินต่อไปในภายหลัง โดยกระทรวงเกษตรถึงการยอมรับมาตรฐาน SRP ในประเทศอินโดนีเซีย