กระทรวงสิ่งแวดล้อมไทย-เยอรมัน และโครงการ CCMB ร่วมแลกเปลี่ยนด้านการประเมินความเสี่ยงและการวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพฯ 9 กันยายน พ.ศ. 2567 – โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จัดการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการและองค์ความรู้ในหัวข้อ “การประเมินความเสี่ยงและการวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าฝ่ายแผนงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) คุณระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สส. ดร.อาคิม ดาร์ชไคท์ รองหัวหน้ากองการปรับตัว KomPass, German Environment Agenda (UBA) เข้าร่วมการประชุมหารือในครั้งนี้
ดร.อาคิม ดาร์ชไคท์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การกำหนดนโยบายของประเทศเยอรมนี ทั้งกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation Law) ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ German Adaptation Strategy 2.0 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ โดยเน้นถึงหลักการและมาตรการป้องกัน (precautionary) เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดร.อาคิม ดาร์ชไคท์ ยังได้แลกเปลี่ยนกลไกและเครือข่ายการทำงานด้านการปรับตัวฯ กระบวนการการจัดทำแผนฯ และตัวอย่างของโครงการด้านการปรับตัวฯ เช่น เมืองฟองน้ำ เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย คุณศุภกร ชินวรรโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ จาก CCMB ได้พูดคุยถึงงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของโครงการ CCMB หัวข้อ “การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวสำหรับเขตชายฝั่งและเขตเกษตรกรรมในประเทศไทย” ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินความเสี่ยงจากอิทธิพลของภูมิอากาศ โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต และวิธีการเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการประเมินความเสี่ยงฯ ครอบคลุมมิติทั้ง 5 สาขาที่เกี่ยวข้องทั้งทรัพยากรชายฝั่ง ได้แก่ การตั้งถิ่นฐาน เกษตรกรรม การประมง การท่องเที่ยว และการผลิตในพื้นที่ ของบริเวณทะเลชายฝั่งทั้ง 18 พื้นที่ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการการปรับตัวฯ ที่เหมาะสมสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คุณระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สส. ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแผน NAP ของไทยครอบคลุม 6 สาขา ได้แก่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรน้ำ เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และจะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สส. จะเริ่มกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือ Adaptation Action Plan ที่ครอบคลุมตัวชี้วัดการดำเนินงานในแต่ละสาขา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2568
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยงและการวางแผนการปรับตัวฯ ในครั้งนี้ ผู้แทนจากฝ่ายไทยและเยอรมนีได้ซักถาม หารือ และให้ข้อคิดเห็นเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนากระบวนการด้านการปรับตัวฯ ของทั้งสองประเทศ
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติม : Climate, Coastal, and Marine Biodiversity (CCMB) – Thai-German Cooperation (thai-german-cooperation.info)