พลาสติกกำลังถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ พลาสติกหาซื้อและใช้ได้ง่าย ราคาถูก สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และทนทาน ประโยชน์ของพลาสติกนั้นมีมากมายหากเทียบกับวัสดุชนิดอื่น แต่ความทนทานและคุณสมบัติที่เป็นข้อดีของพลาสติก กลับกลายเป็นโทษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยเฉลี่ยมีการใช้งานเพียง 12 นาที จากนั้นถูกทิ้งในสภาพที่สมบูรณ์หรือเกือบจะสมบูรณ์ เช่น ขวดน้ำ เป็นต้น ขยะพลาสติกไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมของเรา การลดปริมาณขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กจากประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพมาร่วมกันค้นหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่จะแก้ปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศไทย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมรูปแบบทางธุรกิจที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน พ.ศ. 2562 โดยโครงการ Lab of Tomorrow และโครงการพัฒนาการและการวัดผลการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน สำหรับสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Advance SCP) บริษัทและองค์กรที่สมัครเข้ามาร่วมคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกนี้ ได้แก่ สำนักงานกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริษัท BASF กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท Coca Cola บริษัทด้านการเดินทางและท่องเที่ยว TUI บริษัท Diethelm มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
ในการค้นหารูปแบบธุรกิจเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมี 3 กระบวนการ คือ มีส่วนได้ส่วนเสียหลักได้ตรวจสอบสาเหตุของปัญหาและโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุมในครั้งนี้ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2562 และผลที่ได้จากการประชุมครั้งนั้นถูกนำมาใช้เป็นหัวข้อสำหรับการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมคิดค้นแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม เพื่อร่วมกันทำงานในหัวข้อย่อยต่างๆ 6 หัวข้อ ซึ่งได้แก่
- การลดบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสีเขียว
- การเพิ่มการรีไซเคิล
- บรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป
- การบริการจัดส่งอาหารโดยไม่ใช้ภาชนะพลาสติก
- การเลิกใช้ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
การประชุมฯที่ผ่านมา เป็นการให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายสายงานได้มาทำงานร่วมกันเพื่อคิดค้นรูปแบบธุรกิจ โดยนำหลักการคิดเชิงออกแบบมาใช้ในการทำงาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจเป็นผู้ให้คำแนะนำตลอดกระบวนการ ในวันสุดท้ายของการประชุม ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 8 กลุ่ม ได้นำเสนอผลงานใน 6 หัวข้อ ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ อิมแพคเทค สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาให้คำแนะนำ ผลงานของแต่ละกลุ่มได้แก่
1) การลดบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“Wayste to success” เป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านแนวทางปฏิบัติที่ดี การฝึกอบรม และเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้จัดการโรงแรมสามารถก้าวข้ามอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก และใช้แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้น
2) การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Green Point เป็นกลุ่มสนับสนุนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Green Point จะทำหน้าที่เป็นจุดรวมที่ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจซื้ออย่างยั่งยืนได้ดีขึ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืนมากขึ้น
3) การเพิ่มการรีไซเคิล (กลุ่ม A)
กลุ่มนี้ได้เสนอการก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคม ที่รวมแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงเข้าด้วยกัน และร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้พลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด เช่น เคสโทรศัพท์ กระเป๋า ร่ม ถุงสำหรับจับจ่ายซื้อของ
กระเป๋าแล็ปท็อป กระเป๋าสตางค์ และลำโพงบลูทูธ เป็นต้น ผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายจะนำไปใช้เป็นทุนสำหรับองค์กรเพื่อสังคมและมูลนิธิที่ทำงานด้านการจัดการพลาสติกและการลดพลาสติก
4) การเพิ่มการรีไซเคิล (กลุ่ม B)
GREEN LOOP เป็นบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ในประเทศไทย เพื่อนำขยะพลาสติกมาแยกและเลือกเอาเฉพาะพลาสติกที่เป็น PET เข้าสู่ระบบนำมาใช้ใหม่ (PET หรือ polyethylene terephthalate เป็นโพลีเมอร์ ที่หลอมที่อุณหภูมิสูงและแข็งตัวเมื่อเย็นและทนต่อสารเคมี) โดย Green Loop จะรวบรวมพลาสติก PET 25% เข้ากระบวนการแปรรูปเปลี่ยนพลาสติกนี้ให้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง ให้ได้พลาสติกบริสุทธิ์ ที่จะนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม
5) บรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป
กลุ่มนี้ได้นำเสนอตู้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทันสมัยพร้อมภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ผู้ใช้สามารถเลือกรสและประเภทของบะหมี่ได้ตามใจชอบ ทีมจะทดลองติดตั้งตู้จำหน่ายบะหมี่ในบริษัท โรงเรียน และโรงพยาบาล กลุ่มตั้งเป้าการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจำนวน 13.6 ล้านชิ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 500 ตัน และลดการตัดต้นไม้ 52,000 ต้น ภายในระยะเวลา 5 ปี
6) การจัดส่งอาหารพร้อมรับประทาน โดยไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก
GREENUSE เป็นบริการจัดส่งและทำความสะอาดภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะจัดหา จัดการ และติดตามการจัดเก็บ ล้าง และจัดส่งภาชนะบรรจุระหว่างผู้บริโภคและร้านอาหาร GREENUSE จะร่วมมือกับบริการจัดส่งอาหาร (เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของบริษัทบริการจัดส่ง) ร้านอาหารและบริษัทอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ โดย GREENUSE ตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในบริการจัดส่งอาหารในกรุงเทพฯ ที่ร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2567
7) การเลิกใช้ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (กลุ่ม A)
Bag Mai Cup เป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้ค้าปลีกแก้วพับได้ชั้นดี ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพฯ แก้วนี้จะวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตลาดสด อาจจะรวมถึง 7/11 และห้างสรรพสินค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป Bag Mai Cup มุ่งหวังที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกในกรุงเทพฯได้มากถึง 9 ล้านถุง และแก้วพลาสติก 2 ล้านใบ ต่อวัน
8) การเลิกใช้ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (กลุ่ม B)
Happy Cup เป็นแก้วเครื่องดื่มที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้แทนแก้วเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยใช้ระบบการฝากหรือการคืนเงิน ลูกค้าสามารถซื้อแก้ว Happy Cup ได้โดยการสมัครสมาชิก ทุกครั้งที่ลูกค้าใช้แก้วนี้ซื้อเครื่องดื่มจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับส่วนลด เมื่อใช้เสร็จแล้วสามารถคืนถ้วยที่ร้านนั้นเพื่อนำไปใช้ต่อไป กลุ่มลูกค้าหลักคือเจ้าของห้างสรรพสินค้า ที่จะได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนการจัดการขยะ และภาพลักษณ์ที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท Happy Cup จะลดการใช้แก้วพลาสติก 324 ล้านใบ หรือพลาสติก 97 ตัน ภายในปี พ.ศ. 2568
กระบวนการในครั้งต่อไป คือ การตรวจสอบความสามารถในการนำไปใช้จริง ซึ่งจะมีการทดสอบ และการนำร่องการให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 นี้ โดยทีมที่มีแนวคิดทางธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด จะได้รับคำแนะนำด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างมืออาชีพ เพื่อทดสอบและปรับแต่งความคิดต่อไป
คุณณฐมน ตัณฑ์เกยูร จากกลุ่มเซ็นทรัล หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า “ฉันคิดว่าแนวทางการทำความเข้าใจปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการเปิดใจนั้นจะสร้างความแตกต่างในการแก้ปัญหา การร่วมกันคิดค้นในครั้งนี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทำงานกันอย่างเป็นขั้นตอน และให้ความรู้สึกและพลังที่ดีในการทำงาน Design Thinking หรือแนวคิดการออกแบบเป็นทางเลือกที่ดีที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ดี และการได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายธุรกิจเป็นเวทีที่ดีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”