ฝึกอบรมไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับสาธารณชนครั้งที่ 3 ในเชียงใหม่สู่การประยุกต์ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานฝึกอบรมด้านไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับสาธารณชนครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จังหวัดเชียงใหม่
- โครงการ International Hydrogen Ramp-up Programme (H2Uppp) บริษัทเอนแนปเตอร์(Enapter) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานฝึกอบรมด้านไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับสาธารณชนครั้งที่สาม
- ผู้เข้าร่วมได้รับการอบรมในหัวข้อเชิงเทคนิคและเชิงการจัดการ ร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม รวมถึงได้เยี่ยมชมบ้านผีเสื้อที่มีการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งจะช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนไปใช้ต่อไป
- การฝึกอบรมครั้งที่ 3 นี้เป็นบทสรุปของโครงการความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐระหว่างโครงการ H2Uppp และเอนแนปเตอร์ เพื่อผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมไฮโดรเจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานฝึกอบรมด้านไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับสาธารณชนครั้งที่สามจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ให้ความรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรม 45 คน ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้จัดทำนโยบายจากประเทศมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม การฝึกอบรมครั้งสุดท้ายนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับโครงการความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ (public private partnership) ที่ได้บรรลุภารกิจในการผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านนวัตกรรมไฮโดรเจน เพื่อสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โครงการความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ ระหว่างเอนแนปเตอร์ (Enapter) โครงการ International Hydrogen Ramp-Up Programme (H2Uppp) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาและจัดหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับสาธารณชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวและการนำไปใช้ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และการฝึกอบรมเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai Knowledge Hub for Green Hydrogen) สำหรับจัดหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าว และเป็นศูนย์กลางความรู้และนวัตกรรมด้านไฮโดรเจนสีเขียว สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานฝึกอบรมนี้แบ่งออกเป็นสองหลักสูตรเพื่อให้ตรงกับความต้องการเรียนรู้ที่ต่างกันไป ได้แก่ หลักสูตรอบรมเชิงเทคนิค และหลักสูตรอบรมเชิงการจัดการ โดยการฝึกอบรมเชิงการจัดการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เข้าร่วมให้สามารถพัฒนาและจัดการโครงการด้านไฮโดรเจนสีเขียวได้โดยคำนึงถึงบริบทของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ขณะที่การฝึกอบรมเชิงเทคนิคในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ สังเกต และพัฒนาความรู้เชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการนำระบบพลังงานไปใช้และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงให้ความรู้เชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านไฮโดรเจนสีเขียว

การบรรยายและกิจกรรมกลุ่มสำหรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างช่วงฝึกอบรม

ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมชมการสาธิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับยานยนต์ (ซ้าย) และการทำงานของอิเลคโทรไลเซอร์ (ขวา) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ERDI ระหว่างการฝึกอบรมเชิงเทคนิค
นอกเหนือจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และการฝึกอบรมเชิงเทคนิคแล้ว ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าอบรมยังได้ร่วมอีกกิจกรรมสำคัญ นั่นคือการเยี่ยมชมบ้านผีเสื้อซึ่งเป็นต้นแบบบ้านที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนสีเขียว โดยคุณเซบัสเตียน ยูสตูส ชมิดต์ กงสุลกิตติมศักดิ์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ก่อตั้งบริษัทเอนแนปเตอร์ และเจ้าของบ้านผีเสื้อ ได้กล่าวต้อนรับ ตามด้วยคุณธนัย โพธิสัตย์ ผู้จัดการด้านการพัฒนาธุรกิจจากเอนแนปเตอร์ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงานที่บ้านผีเสื้อ ซึ่งผนวกรวมพลังงานโซลาร์ แบตเตอรี่ และคลังกักเก็บไฮโดรเจนเข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การเยี่ยมชมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นการทำงานของเทคโนโลยีไฮโดรเจน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการนำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ในงานของตนเอง นอกจากนั้น การได้ร่วมสังเกตโครงการที่ดำเนินงานจริงยังทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมเห็นภาพว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานอย่างไร ซึ่งช่วยเชื่อมโยงทฤษฎีเข้ากับภาคปฏิบัติ และช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

คุณธนัย โพธิสัตย์ (ซ้าย) และคุณเซบัสเตียน ยูสตูส ชมิดต์ (ขวา) ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโครงการบ้านผีเสื้อ

ผู้เข้าร่วมอบรมเยี่ยมชมบ้านผีเสื้อที่ผลิตพลังงานใช้เองผ่านระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผนวกเทคโนโลยีแบตเตอรี่และไฮโดรเจนเข้าด้วยกัน
ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นพลังงานที่สะอาดและไม่มีวันหมด เป็นความหวังสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก (hard-to-abate) ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ ศูนย์การเรียนรู้ฯ จึงจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมความรู้และทักษะให้ผู้พัฒนาโครงการและผู้ใช้เทคโนโลยีในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาคส่วนต่าง ๆ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภูมิภาคไปสู่อนาคตที่มีคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
โครงการ H2Uppp ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ดำเนินโครงการทั่วโลกโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำหรับโครงการ H2Uppp ในประเทศไทย มีหอการค้าไทย-เยอรมัน (German-Thai Chamber of Commerce – GTCC) เป็นผู้ร่วมดำเนินการ และเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการฯ ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนสีเขียวและ Power-to-X ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนี
คุณทิม นีส์
ผู้จัดการโครงการ H2Uppp
อีเมล:tim.nees(at)giz.de