ความสำเร็จของการแปลงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การปฏิบัติ
มื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ GIZ จัดงานประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนการแปลงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การปฏิบัติ ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (CCA) โดยได้รับเกียรติจากดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นประธานในการประชุม
โครงการ CCA เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้างและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (BMUB) ผ่าน GIZ ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการพัฒนานโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของไทยในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฐานะประเทศสมาชิกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
ในการดำเนินงาน โครงการฯ ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง จำนวน 17 จังหวัดและ 32 เทศบาล ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ผู้แทนของพื้นที่นำร่องได้เข้าร่วมการฝึกอบรมการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับบริบทการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ การฝึกอบรมดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการจัดลำดับความสำคัญของสาขา การวิเคราะห์ข้อมูล การตั้งเป้าหมาย การกำหนดมาตรการและกำหนดแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งยังนำข้อมูลภูมิอากาศในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในอนาคตมาวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้น
โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- คู่มือการวางแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับจังหวัดและท้องถิ่นคู่มือฉบับนี้ใช้เป็นคู่มือสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยครอบคลุมข้อมูลและสถานการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปีพ.ศ. 2558 – 2593 นอกจากนี้รายละเอียดหลักของคู่มือคือขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการณ์ที่ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก คือ การกำหนดวิสัยทัศน์และการจัดลำดับความสำคัญ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดทำแผนปฏิบัติการ การจัดทำแผนงานและโครงการ ทรัพยากรด้านงบประมาณ การติดตามและประเมินผล
- แผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดและระดับเทศบาลเป็นแผนปฏิบัติการที่แต่ละพื้นที่จัดทำขึ้นเองผ่านขั้นตอนการฝึกอบรม โดยการเลือกลำดับความสำคัญสาขานั้น แต่ละพื้นที่เป็นผู้เลือกเองจากสาขาที่ระบุในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6 สาขาได้แก่ การจัดการน้ำ อุทกภัยและภัยแล้ง การเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 8 สาขา ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การใช้พลังงานภายในอาคาร ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย ภาคการเกษตร ภาคป่าไม้ และ การจัดการเมือง นอกจากนี้ยังมีการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถบูรณาการไปในแต่ละสาขา ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาข้อมูล งานศึกษาวิจัยและเทคโนโลยี การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ในแผนปฏิบัติการยังแสดงรายละเอียดความสำคัญของสาขาที่อธิบายได้จากข้อมูลในอดีตปัจจุบันและการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงการตั้งเป้าหมายของแต่ละสาขา การกำหนดแผนงาน และโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และช่องทางทางการเงินที่จะขอการสนันสนุนการดำเนินโครงการอีกด้วย
ผลของการฝึกอบรมที่จัดขึ้น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 17 จังหวัดและเทศบาล 32 แห่งได้จัดเตรียมการปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับช่วงปีพ.ศ. 2558 – 2593 และได้บูรณาการไว้ในแผนงานอย่างสมบูรณ์พร้อมเป้าหมายและโครงการ หนึ่งในเป้าหมายระยะกลางได้แก่ การริเริ่มระบบพยากรณ์อากาศและเตือนภัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ในขณะที่เป้าหมายระยะยาวประการหนึ่งคือ การเพิ่มอัตราส่วนของประชากรที่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดให้ได้ร้อยละ 100 เป้าหมายเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการการจัดการน้ำแบบบูรณาการและโครงการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง ในส่วนของการวางแผนด้านป่าไม้ แผนงานดังกล่าวมุ่งที่จะเพิ่มอัตราส่วนของพื้นที่ป่าขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อนุรักษ์ให้มากที่สุด และเพิ่มสัดส่วนของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นร้อยละ 30 โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า โครงการพื้นที่สีเขียว และโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร แผนงานดังกล่าวมุ่งที่จะเพิ่มสัดส่วนของทรัพยากรน้ำผิวดินที่ใช้ประโยชน์ได้ขึ้นไปถึงร้อยละ 80 ของน้ำผิวดินทั้งหมดในจังหวัด และเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่และเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานเป็นร้อยละ 40 ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนจากโครงการเตรียมความพร้อมรองรรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางอาหาร
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เทศบาลเมืองศรีสะเกษมุ่งที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองในอัตราส่วน 18 ตร.ม. ต่อประชากรหนึ่งคน โครงการที่สนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้รวมถึงโครงการปลูกต้นไม้และโครงการสร้างสวนสาธารณะ การขนส่งสาธารณะพร้อมที่จะได้รับการส่งเสริมต่อไปในขณะที่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางบกโดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะและการส่งเสริมการจัดการระบบเมือง ในด้านการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดศรีสะเกษมุ่งจัดทำแผนที่ซึ่งแสดงถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งระบบพยากรณ์อากาศและเตือนภัยสำหรับภาคการเกษตรและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด นอกจากนี้ ศรีสะเกษยังตั้งเป้าที่จะลดการเสียชีวิตและความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนขยายเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
โครงการนี้มีแผนที่จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมอีก 60 จังหวัดในอนาคต
หมายเหตุ: เป้าหมายและโครงการซึ่งแสดงในบทความเป็นเพียงส่วนหนึ่งและไม่ใช่ทั้งหมดของแผนงานที่มีอยู่ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงาน รวมทั้งแผนงานของจังหวัดนำร่องอื่นๆ สามารถดูได้ที่ www.thai-german-cooperation.info.
ชุติมา จงภักดี
Email: chutima.jongpakdee(at)giz.de