เมือง 12 แห่ง และ 7 ประเทศในเอเชียกำลังเตรียมนำแนวทางของ Nexus ไปใช้ มีการพัฒนาโครงการ Nexus ต่างๆ และบูรณาการแนวทาง Nexus เข้ากับการวางผังเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “การจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการในเมืองของเอเชีย”
แนวทาง “Nexus” มุ่งที่จะบูรณาการกระบวนการวางแผนและการจัดการเข้ากับภาคหลักๆ ได้แก่ พลังงาน น้ำ และอาหาร แนวทางดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวของเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในแต่ละภูมิภาค การวางแผนและการจัดการแบบบูรณาการในระดับที่สูงขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้หน่วยงานระดับเทศบาล ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับข้ามภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคจัดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเมืองที่เข้าร่วมโครงการและการหารือหลายฝ่ายระหว่างเมือง รัฐบาลระดับภาค/ระดับจังหวัด และระดับชาติ องค์กรระดับกลาง สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ภาคเอกชน เครือข่ายของเมือง และองค์กรระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน
เวทีแลกเปลี่ยนยังคงดำเนินต่อไป ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 7 ที่เมืองตันจุง ปีนัง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมจากนานาชาติและท้องถิ่นกว่า 150 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภาคจากเมืองพันธมิตร กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลระดับจังหวัด ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา บริษัทเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
เมืองที่เข้าร่วมโครงการได้นำเสนอความคืบหน้าด้านการวางแผนและดำเนินกิจกรรมของโครงการ ได้แบ่งปันการปฏิบัติที่ดี ความคิดหรือโครงการที่ริเริ่มใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง ที่ได้สร้างผลกระทบในเชิงบวก กิจกรรมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่รูปแบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปจนถึงโครงการขนาดเล็ก อาทิ การฟื้นฟูโรงบำบัดน้ำเสีย การฟื้นฟูคลองแม่ข่า การสร้างพื้นที่จัดการขยะมูลฝอยแห่งใหม่ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของอาคารศูนย์สุขภาพ
เมืองและองค์กรที่เข้าร่วมโครงการได้จัดทำและแบ่งปันคำแนะนำเชิงนโยบายสำหรับการนำแนวทาง Nexus ไปใช้ในระดับท้องถิ่น โดยอิงตามกรอบแนวคิด Urban Nexus และมิติที่เป็นแนวทางประกอบด้วย:
– ธรรมาภิบาล
– การตัดสินใจที่ครอบคลุม
– การวางผังเมือง
– แนวทางปฏิบัติทางการเงินและธุรกิจ
– วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI)
ในช่วงการฝึกภาคปฏิบัติระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมโครงการได้เชื่อมโยงถึงโครงการ Nexus ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมืองหรือประเทศของตน ตลอดจนคำแนะนำเชิงนโยบายสำหรับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน (Habitat III)
เมืองและองค์กรที่ร่วมโครงการทุกแห่งจะได้รับแจกเอกสารคำแนะนำเชิงนโยบายเพื่อพิจารณาทบทวนและให้ข้อคิดเห็นก่อนที่จะมีการนำไปใช้และดำเนินการต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมศาลากลางเมืองตันจุง ปีนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดสรรด้านการจัดการน้ำเสียเชิงนวัตกรรมในเขตเซ็งการังและการเป็นสถานที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งได้รับการมีส่วนร่วมจากประชากรท้องถิ่น
การจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการในเมืองของเอเชีย ดำเนินการโดย GIZ ร่วมกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกของสหประชาชาติ (UNESCAP) และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICLEI) โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) การจัดตั้งคณะทำงาน Nexus ของเมืองที่เข้าร่วมโครงการได้ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนของการบริหารของเทศบาล
การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนได้สร้างความเข้มแข็งให้กับการแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาคระหว่างเมืองที่เข้าร่วมโครงการในการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างภาคส่วน การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติที่ดี และความร่วมมือแบบใต้-ใต้